Analysis: วิกฤติซีเรียกลายเป็นเงาบดบังปัญหาทางการคลังสหรัฐ ท่ามกลางความผันผวนในตลาดโลก

ข่าวต่างประเทศ Monday September 9, 2013 12:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ตลาดเงินโลกเคลื่อนตัวอย่างผันผวนภายใต้สถานการณ์ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้กำลังทางทหารในซีเรียโดยสหรัฐ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับประเด็นด้านการคลังสหรัฐอีกครั้งในไม่กี่สัปดาห์ที่จะถึงนี้

ตลาดผันผวนถ้วนหน้า

ความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะใช้กำลังทหารในซีเรียก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่ออุปทานน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบมากเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของโลก ด้านนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ประกาศว่า รัสเซียจะให้ความช่วยเหลือกับซีเรียหากเกิดการแทรกแซงจากภายนอกระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำจี-20 (G20) เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าที่จัดขึ้นที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย จนกลายเป็นปัจจัยผลักดันสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 116.12 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่ 117.34 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันที่ 28 ส.ค.

การใช้กำลังทางทหารในซีเรียไม่น่าจะส่ง "ผลกระทบสำคัญใดๆต่อเศรษฐกิจสหรัฐหรือเศรษฐกิจโลก" นายซี เฟรด เบอร์กสเตน ผู้อำนวยการกิตติคุณประจำสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันในวอชิงตันกล่าว แต่ชี้ว่า การใช้กำลังทางทหารของสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงตลาดน้ำมัน

ประเด็นเรื่องเฟดเข้ามามีบทบาท

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความวิตกกังวลในตลาดที่เกิดจากแนวโน้มการใช้กำลังทหารในซีเรีย อีกทั้งข้อมูลการจ้างงานสหรัฐล่าสุดที่อ่อนแรงลงอาจทำให้เฟดเลื่อนกำหนดการลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (QE3) ไปจนถึงเดือนธ.ค. หรือไม่ก็อาจปรับลดขนาดมาตรการลงในบริมาณที่ไม่มากนักในการประชุมนโยบายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย.

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเผยตัวเลขการจ้างงานเดือนส.ค.ในสหรัฐอยู่น้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด ขณะที่อัตราว่างงานขยับลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากจำนวนผู้ว่างงานมีมากขึ้น

ความพยายามเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังต้องล่าช้าออกไป

สภาคองเกรสจะเปิดการอภิปรายประเด็นการใช้กำลังทางทหารในซีเรียวันนี้ หลังจากที่ได้หยุดการประชุมช่วงฤดูร้อนไป ประเด็นดังกล่าวได้หันเหความสนใจไปจากปัญหาทางการคลัง โดยรัฐบาลสหรัฐจำเป็นต้องได้รับมติเห็นพ้องจากสภาต่อแผนการคลังประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ต.ค. พร้อมกับปรับเพิ่มอำนาจการกู้ยืมเงินของกระทรวงการคลังในช่วงกลางเดือนต.ค.เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้

การอภิปรายเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารในซีเรียอาจทำให้ทางสภาสหรัฐต้องพิจารณาว่าควรจะดำเนินมาตรการ "sequester" หรือตัดงบประมาณค่าใช้จ่ายต่อไปหรือไม่ นับเป็นเรื่องยากที่จะคาดถึงผลพวงจากผลลัพธ์ดังกล่าว แต่นายโรเจอร์ อัลท์แมน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐให้สัมภาษณ์กับสถานี Bloomberg TV ว่าอย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบอย่างใดอ่ย่างหนึ่งต่อมาตรการนี้อย่างแน่นอน

ขณะที่โอบามากำลังรอฟังมติเรื่องส่งกำลังทางทหารบุกโจมตีซีเรียจากสภาคองเกรสนั้น ประเด็นซีเรียจะทำให้ความท้าทายทางการคลังมีความซับซ้อนมากขึ้นต่อสภานิติบัญญัติสหรัฐ และจะเพิ่มแรงกดดันต่อเวทีอภิปรายทางการคลังเดือนก.ย. ซึ่งแต่เดิมก็มีวาระมากมายอยู่แล้ว โดยทางสภาคองเกรสอาจต้องอนุมัติร่างกฎหมายสนับสนุนเงินทุนชั่วคราวแก่รัฐบาลเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ซึ่งจะทิ้งปัญหาทางการเงินที่หนักหน่วงกว่าในภายหลัง

บทวิเคราะห์โดย เจียง ซูเฟิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ