ออร์คัน ออร์ฮาน ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์วิจัยกลยุทธ์ตะวันออกกลาง ระบุว่า เมืองต่างๆที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนของตุรกีที่ติดกับซีเรียนั้น อยู่ในเขตรัศมีของการโจมตี และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปะทะกัน เช่น การโจมตีด้วยคาร์บอมบ์โดยกลุ่มปกป้องซีเรียในพื้นที่
ออร์คัน ออร์ฮาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ซีเรียจะตอบโต้ตุรกีทางอ้อมได้ เช่น การโจมตีด้วยกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งจะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้บงการ"
เมนเซอร์ อัคกัน ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์การเมืองโลก และประธานภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอิสตันบูล คูลเตอร์ ยูนิเวอร์ซิตี้ โต้แย้งว่า "ผมไม่คิดว่าซีเรียจะสามารถยิงขีปนาวุธระยะไกลได้ พวกเขาควรทราบว่าการตอบโต้ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งกองกำลังของสหรัฐ และตุรกีมีการระมัดระวังในระดับสูง และจะตอบโต้ด้วยขีปนาวุธในทันที องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะอยู่เบื้องหลังตุรกี และจะตอบโต้ในทันที"
โซลี โอเซล นักวิชาการชาวตุรกี ระบุว่า "ตุรกีคงจะไม่พอใจแผนการแทรกแซงทางทหารในรูปแบบที่จำกัด ซึ่งถือเป็นการลงโทษที่เบามากสำหรับอัสซาด อีกทั้งยังไม่สามารถคว่ำระบอบการปกครองของอัสซาดได้อีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม เมนเซอร์ อัคกัน เชื่อว่า "หากพวกเขาใช้กองกำลังทหาร และยิงขีปนาวุธไปยังหลายพื้นที่มากพอ ผมคิดว่าระบอบการปกครองของซีเรียคงจะเอาตัวรอดได้ไม่นานเท่าไรนัก"
นักวิเคราะห์ระบุว่า การเข้าร่วม หรือการสนับสนุนแผนการแทรกแซงทางทหารในซีเรียอย่างเต็มที่ถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่งสำหรับตุรกี ซึ่งได้ผลักดันให้ประชาชนพิจารณาด้วยว่ามาตรการต่างๆที่ใช้นั้นเพียงพอหรือไม่
ขณะที่จังหวะเวลาสำหรับแผนการแทรกแซงทางทหารเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ตุรกีก็กำลังดำเนินการเพื่อเตรียมการป้องกันที่จำเป็นสำหรับการรับมือการตอบโต้ที่อาจจะเกิดขึ้น
กองกำลังทหารของตุรกีที่ได้ประจำการตามเขตชายแดนของซีเรีย ซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมีกว่า 400 หน่วยได้เข้าประจำพื้นที่มากขึ้นตามมาตรการต่อต้านการข่มขู่โดยใช้อาวุธเคมีที่อาจเกิดขึ้นได้
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคน ระบุว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธของนาโตที่ติดตั้งอยู่ในตุรกี ซึ่งหลายคนสงสัยว่าระบบดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพหรือไม่
โซลี โอเซล กล่าวว่า "พลเรือนในเขตชายแดนทางภาคใต้ไม่ได้รับอุปกรณ์ป้องกันตัวที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์ป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธเคมี
ผลสำรวจล่าสุดโดยเยอรมัน มาร์แชลล์ ฟันด์ ระบุว่า ชาวตุรกี 72% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการมีส่วนร่วมในการแทรกแซงทางทหารทุกกรณีของรัฐบาลตุรกี
ทั้งนี้ พลเรือนชาวตุรกี 67 รายถูกสังหารในระหว่างเหตุยิงขีปนาวุธจากเขตชายแดนฝั่งซีเรีย และพลเรือนอีก 53 รายเสียชีวิตในเหตุวางระเบิดที่เมืองชายแดนเรฮานลี