Analysis: อุตสาหกรรมต่อเรือเอเชียส่งสัญญาณฟื้น หลังยอดสั่งซื้อเริ่มดีดตัว

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 19, 2013 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากความต้องการเรือสร้างใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เมื่อปี 2551 ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมต่อเรือในเอเชียกลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และคำสั่งซื้อใหม่ๆที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เครดิตสวิส รีเสิร์ช ระบุว่า บริษัทต่อเรือในเอเชีย โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีน ต้องเผชิญกับช่วงเวลายากลำบากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบสินค้า การยกเลิกคำสั่งซื้อ และราคาของเรือสร้างใหม่ อย่างไรก็ดี ในแง่ของอุปสงค์กลับเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในปีนี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีการสั่งซื้อเรือใหม่ซึ่งมีน้ำหนักระวางบรรทุกรวม 72 ล้าน dwt มากกว่าปีก่อนที่ 54 ล้าน dwt นอกจากนี้ ราคาเรือใหม่ก็ปรับเพิ่มขึ้น 2.4% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

ด้านดีบีเอส กรุ๊ป รีเสิร์ช ระบุว่า ตลาดต่อเรือเชิงพาณิชย์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทต่อเรือเชิงพาณิชย์ได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น และอยู่ในระดับที่มั่นคง และด้วยเหตุที่บริษัทขนส่งทางเรือที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินกำลังอาศัยความได้เปรียบจากราคาเรือใหม่ที่ไม่สูงนัก ดีบีเอสจึงคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า

เครดิตสวิสคาดการณ์ในทำนองเดียวกันว่า คำสั่งซื้อใหม่จะแซงหน้ายอดส่งมอบเรือในปี 2557 โดยระบุว่า อัตราส่วนของคำสั่งต่อเรือคงค้างที่ลดลง 16% จากระดับสูงสุด 62% ในเดือนสิงหาคม 2551 จะส่งผลให้เกิดอุปสงค์ที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจโลกและการค้าทางทะเลฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมต่อเรือยังได้รับแรงหนุนจากการรวมกิจการที่ส่งผลให้บริษัทต่อเรือของจีนต้องยุติการผลิตไปเกือบ 20% นับตั้งแต่ปี 2540 เครดิตสวิสยังระบุด้วยว่า การรวมกิจการอาจส่งผลดีต่อบริษัทต่อเรือชั้นนำที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดยจากการประมาณการของฝ่ายวิจัยของเครดิตสวิส พบว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทต่อเรือชั้นนำ 30 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 74% จาก 67% ในปี 2554

อันที่จริงแล้ว นโยบายล่าสุดในจีนอาจเร่งให้เกิดการรวมกิจการกันเร็วขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีจีนได้ออกแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมต่อเรือเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยมาตรการที่จะระงับการอนุมัติโครงการต่อเรือ และระงับการปล่อยสินเชื่อสำหรับการขยายโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ดีบีเอส กรุ๊ป เตือนเรื่องมุมมองที่เป็นบวกจนเกินไปเกี่ยวกับบริษัทต่อเรือในเอเชีย โดยถึงแม้ว่าอาจผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่ฝ่ายของดีบีเอส กรุ๊ประบุว่า อุตสาหกรรมต่อเรือยังคงประสบปัญหากำลังการผลิตที่ล้นตลาด และอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

เจพี มอร์แกน รีเสิร์ชกล่าวต่อไปว่า แม้คำสั่งต่อเรือใหม่ฟื้นตัวขึ้น แต่แนวโน้มในอดีตก็อาจจะไม่ได้เป็นแนวทางที่เชื่อถือได้สำหรับอนาคต การเปลี่ยนแปลงระยะยาวในอุตสาหกรรมจะได้รับแรงผลักดันจากการเปลี่ยนมาใช้เรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งวงจรใหม่นี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

เจพี มอร์แกน รีเสิร์ชระบุว่า ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการต่อเรือเอเชียในระยะกลางถึงระยะยาว โดยรอบของการทดแทนเรือใหม่อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเรือเก่าส่วนใหญ่ทำประโยชน์ได้น้อยลง และมีแนวโน้มที่จะถูกแยกชิ้นส่วนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ในอนาคตนั้น ต้นทุนแรงงานจะมีความสำคัญน้อยลง ขณะที่เทคโนโลยีและคุณภาพจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น

จากแนวโน้มดังกล่าว เจพี มอร์แกนคาดว่า ตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมต่อเรือของบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้จะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยการสร้างเรือแบบใหม่ๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ญี่ปุ่นจะแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมต่อเรือใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ไปจนถึงปี 2558 เนื่องจากช่องว่างด้านผลิตภาพที่ลดลง และการให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ