Analysis: จีนเล็งยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน หวังผลักดันการพัฒนาร่วมกัน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 9, 2013 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนเริ่มต้นการเดินทางเยือน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วันนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเพิ่งจะเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย

การที่ผู้นำสูงสุดทั้ง 2 คนของจีนได้เดินทางเยือนต่างประเทศบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการเดินทางเยือน 5 ประเทศจาก 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ภายใน 2 สัปดาห์นั้น แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีน-อาเซียน และความพยายามที่จะเดินหน้าผลักดันการพัฒนาร่วมกันอีกด้วย

นายซู หลี่ผิง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้การบริหารงานของสำนักงานสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า จีนกำลังเดินหน้าในการเสริมความแข็งแกร่งต่อการเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงกับอาเซียนผ่านวิธีการที่หลากหลายระดับ

เขาระบุว่า การค้าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของความสัมพันธ์จีน-อาเซียนเท่านั้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานและการแลกเปลี่ยนบุคลากรถือเป็นแนวคิดริเริ่มใหม่ที่จีนกำลังดำเนินการเพื่อสร้าง "ยุคแห่งความรุ่งโรจน์" ซึ่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่งานจีน-อาเซียน เอ็กซ์โป ครั้งที่ 10 เมื่อเดือนที่แล้ว

นักวิจัยกล่าวว่า โครงการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว เช่น เครือข่ายรถไฟทั่วเอเชียจะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่เกี่ยวข้องและประชาชนของประเทศดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ในทันทีที่โครงการเสร็จสมบูรณ์

นายซูกล่าวว่า รายงานจากมหาวิทยาลัยเซียเหมิน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ไชน่าระบุว่า ชาวจีนในต่างแดนประมาณ 70-80% อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่พวกเขามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายซูระบุว่า "การที่จีนมีประชากรในต่างแดนจำนวนมากอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดของจีนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากร"

นายหรวน ซงซือ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนานาชาติจีน กล่าวว่า "การพัฒนาของจีนต้องการความร่วมมือจากเพื่อนบ้าน และนโยบายเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่ดีของจีนที่มีต่ออาเซียนไม่ใช่ประเด็นของความฉาบฉวย แต่เป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว"

นอกจากบรูไนแล้ว นายยกรัฐมนตรีหลี่ยังจะเดินทางเยือนไทยและเวียดนาม พร้อมเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนครั้งที่ 16, การประชุมสุดยอดอาเซียน+3 (จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 16 รวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 8 ด้วย

นายหลิว เจินหมิน รมช.ต่างประเทศจีนระบุว่า ในบรูไน นายกรัฐมนตรีจีนได้เตรียมอธิบายนโยบายเกี่ยวกับอาเซียนที่ดำเนินการโดยผู้นำใหม่ของจีน รวมถึงทัศนคติของจีนต่อการพัฒนานต่อไปด้านความมั่นคงทางการเมือง, ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ, การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน, ความร่วมมือทางทะเล และการแลกเปลี่ยนบุคลากรของจีน-อาเซียน

นอกจากนี้ นายหลิวกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจีนจะประเมินโอกาสใหม่ๆสำหรับความร่วมมือกับบรรดาผู้นำอาเซียน ซึ่งรวมถึง การลงนามสนธิสัญญาจีน-อาเซียนว่าด้วยการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือฉันท์มิตร, การยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย

ขณะเดียวกัน จีนก็ได้เสนอให้ปี 2557 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-อาเซียน และยังให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนทุนการศึกษารัฐบาลจำนวน 15,000 ทุนให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนใน 3-5 ปีข้างหน้า

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของความร่วมมือจีน-อาเซียน ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าการค้าแบบทวิภาคีอย่างเห็นได้ชัด โดยพุ่งขึ้นจาก 5.477 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 แตะ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต 22% ต่อปี

ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการค้าแบบทวิภาคีอาจพุ่งสูงแตะ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนปี 2558 และจีนได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดและเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอาเซียนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ