Analysis: นักวิเคราะห์ชี้จีนต้องเร่งปฏิรูป ขณะศก.ยังขยายตัวอย่างเหมาะสม

ข่าวต่างประเทศ Monday October 21, 2013 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2556 ทำให้บรรดาผู้นำของจีนคลายความวิตกกังวลลงได้บางส่วน ทว่าแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงในช่วงใกล้สิ้นปียังคงทำให้ผู้นำจีนต้องเดินหน้ามาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่อไป

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ขยายตัว 7.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7.5% ในไตรมาส 2 และ 7.7% ในไตรมาสแรก

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 7.7%

การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด และยังคงทำให้จีนมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายการขยายตัวตลอดทั้งปีที่ 7.5% แม้การเติบโตอาจลดลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายก็ตาม

นายเผิง เหวินเซิง นักวิเคราะห์ของบริษัทไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ป คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีอาจลดลงมาอยู่ที่ 7.5% ในช่วงไตรมาส 4 อันเนื่องมาจากฐานข้อมูลเปรียบเทียบที่ระดับสูงในปีที่แล้ว โดยเขาคาดว่าการเติบโตจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557

นายเซิง ไล้หยุน โฆษก NBS ระบุว่า สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของจีน "มีเสถียรภาพ โดยปัจจัยชี้วัดที่สำคัญๆยังคงอยู่ภายในช่วงที่เหมาะสม" และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงต่อเนื่องในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม มุมมองบวกดังกล่าวได้ถูกบั่นทอนจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวอ่อนแรงในเดือนกันยายน ซึ่งดูได้จากการเติบโตที่ชะลอลงของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและยอดค้าปลีก นอกจากนี้ อุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซาก็เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโต ดังจะเห็นได้จากการส่งออกในเดือนที่แล้ว ซึ่งลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ได้ปฏิเสธเกี่ยวกับความเสี่ยงระยะใกล้สำหรับเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายยังคงเผชิยแรงกดดันในการที่จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยแนวโน้มการฟื้นตัวยังคงซบเซา

หลังจาก 3 ทศวรรษแห่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จีนได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัวที่อาศัยแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก มาเป็นการเติบโตที่พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก นั่นส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงจากการขยายตัวที่สูงกว่า 10% ในช่วงหลายปีก่อน

โฆษก NBS ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการบริโภคได้ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตขึ้น 3.5% ซึ่งต่ำกว่าภาคการลงทุนที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตได้ถึง 4.3% อย่างไรก็ตาม การส่งออกกลับเป็นปัจจัยฉุดการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 3 ลง 0.1% นายเหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ คอมมูนิเคชันส์ กล่าวว่า จีนต้องปรับเปลี่ยนจากรูปแบบการขยายตัวในแบบเดิมๆที่พึ่งพาการลงทุนและการส่งออก และกุญแจสำคัญสู่การปรับเปลี่ยนที่ประสบความสำเร็จก็คือการปฏิรูป

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดกันว่าจะมีการวางแผนการปฏิรูปที่ครอบคลุมในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยนักวิเคราะห์หลายรายคาดหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะช่วยผลักดันการปฏิรูปด้านการบริหาร, การเงินและภาษี ซึ่งจะกำหนดวาระสำคัญสำหรับเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

นายหลิว หยวนชุน ผู้ช่วยคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ไชน่า ระบุว่า ในระยะสั้นและระยะกลาง จีนจะรู้สึกดีกับการที่ยอมแลกการขยายตัวทางเศรษฐกิจบางส่วนเพื่อให้มีการปฏิรูปและการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

บรรดาผู้นำจีนได้ส่งสัญญาณถึงความอดทนมากขึ้นกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ดำเนินความพยายามสร้างเสถียรภาพแก่การขยายตัว และปรับสมดุลเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมจี-20 เมื่อเดือนที่แล้วว่า "ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจีนมีความแข็งแกร่ง จีนได้ตระหนักแล้วจะเป็นต้องยกระดับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว แม้ว่านั่นจะหมายถึงการขยายตัวทางเศรษบกิจที่ชะลอลงก็ตาม"

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน ได้เน้นย้ำความเห็นของปธน.สีว่า "ตราบใดที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวในช่วงที่เหมาะสม เราจะยังคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพโดยทั่วไป และจะมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขยายตัวและการปรับปรุงเชิงโครงสร้าง"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ