ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนได้ขยายเพิ่มขึ้นทีละน้อย แต่คุณภาพผลิตภัณฑ์และปริมาณผลผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางต่อไป
ขณะเดียวกัน การพึ่งพาผลผลิตยางที่ผลิตขึ้นเองในประเทศของจีนอยู่ที่ประมาณ 20% นับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลมาก
พื้นที่เพาะปลูกยางของจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 69% จาก 660,000 เฮกตาร์ในปี 2546 มาอยู่ที่ 1.11 ล้านเฮกตาร์ในปี 2556 โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปีมานี้ บริษัทผู้ผลิตยางรายใหญ่ภายในประเทศได้เร่งการเพาะปลูกยางในต่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าพื้นที่เพาะปลูกยางของจีนจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกยางและผลผลิตยางของจีนเพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ปริมาณผลผลิตต่อหน่วย และคุณภาพยังคงต่ำกว่าของบรรดาประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก อาทิ ประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ปริมาณผลผลิตยางพาราต่อหน่วยในจีนอยู่ที่เพียง 1,242 กก./เฮกตาร์ ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับระดับ 1,799 กก./เฮกเตอร์ในประเทศไทย 1,707 กก./เฮกเตอร์ในเวียดนาม และ 1,462 กก./เฮกเตอร์ในมาเลเซีย
หลิว ต้าเหว่ย รองประธานไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป ระบุว่า "นอกจากผลผลิตต่อหน่วยแล้ว คุณภาพยางก็ควรได้รับการปรับปรุงด้วยเช่นกัน"
ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมการประชุมได้แนะนำว่า จีนควรจะเพิ่มการสนับสนุนด้านการเงินและนโยบายให้แก่อุตสาหกรรมยาง และผลักดันความร่วมมือทั้งในด้านการเพาะปลูก กระบวนการผลิต และการขาย เพื่อเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรม และคุณภาพผลิตภัณฑ์
จู ซิวหยาน ประธานกิติมศักดิ์ของสมาคมยางพาราจีน กล่าวว่า "บริษัทผู้ผลิตยางพาราควรจะร่วมมือกับอุตสาหกรรมปลายน้ำและหน่วยงานด้านเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์กดดันในตลาด"