Analysis: หลากมุมมองกับอนาคตไอร์แลนด์หลังประกาศถอนตัวจากโครงการช่วยเหลือด้านการเงิน EU-IMF

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2013 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บรรดานักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ และพลเมืองชาวไอร์แลนด์ต่างเห็นชอบให้รัฐบาลไอร์แลนด์ถอนตัวออกจากโครงการช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทว่า หลายฝ่ายยังคงคาดการณ์ว่าไอร์แลนด์ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย และการประหยัดมัธยัสถ์อีกต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือจากอียู และไอเอ็มเอฟเมื่อ 3 ปีก่อน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6.75 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นับตั้งแต่ ไอร์แลนด์ได้กลายเป็นประเทศนำร่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ไอร์แลนด์ได้ใช้มาตรการรัดเข็มขัดซึ่งช่วยลดการขาดดุลงบประมาณของประเทศลงได้เป็นอย่างมาก

นายไมเคิล นูนาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไอร์แลนด์ระบุในคำแถลงการณ์เรื่องการถอนตัวจากโครงการช่วยเหลือดังกล่าวว่า ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่า 3% ภายในปี 2558 ไปได้ 95% แล้ว

แฟรงค์ แบร์รี่ ประธานภาควิชาการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจระดับนานาชาติ วิทยาลัยทรินิตี้ กล่าวว่า "การถอนตัวออกจากโครงการช่วยเหลือดังกล่าวในขณะนี้ ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอยู่บางประการ

ในด้านความน่าเชื่อถือ ไอร์แลนด์นั้นสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากตลาดพันธบัตรนานาชาติกลับมาได้อีกครั้ง และส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรของไอร์แลนด์ได้กลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตที่ 3% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่า รัฐบาลจะคำนวณความแข็งแกร่งของระบบการเงินของไอร์แลนด์ในปัจจุบันผิดไปหรือไม่

อดีตผู้บริหารไอริช แบงก์ รีโซลูชั่น คอร์ปอเรชั่น (IBRC) กล่าวว่า "สถานการณ์ต่างๆกำลังดีขึ้น แต่ยังคงเป็นคลื่นใต้น้ำ เราได้เติมน้ำเต็มทุกถังหรือยัง และเราได้สร้างความมั่นคงให้กับภาคการธนาคารเพื่อส่งเสริมประเทศด้วยวิธีการตามปกติแล้วหรือยัง"

นอกจากนี้ รัฐบาลไอร์แลนด์ยังปฏิเสธวงเงินสินเชื่อ ซึ่งุถือเป็นการดำเนินการในรูปแบบการเฝ้าระวังไว้เมื่อมีการถอนตัวออกจากโครงการ ซึ่งเป็นการกระทำที่บางคนกล่าวว่าทำตามความคิดเห็นสาธารณะชนมากกว่าสภาวะทางเศรษฐกิจ

คอนสแตนทิน เกิร์ดกีฟ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า "ไอร์แลนด์มีเงินกองทุนพร้อมใช้ประมาณ 1.9 หมื่นล้านยูโร ซึ่งเพียงพอสำหรับการรองรับความเสี่ยงได้อย่างน้อย 1 ปี และจะใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อการเฝ้าระวังได้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี แต่ในความคิดของผม การปรับลดดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ สินเชื่อเพื่อการช่วยเหลือมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.5-4% และวงเงินสินเชื่อจะมีดอกเบี้ยประจำปี 0.15-0.25% ซึ่งถือว่าเป็นสินเชื่อราคาถูก"

หลายคนคาดการณ์ว่า รัฐบาลไอร์แลนด์ปฏิเสธสินเชื่อเพื่อการเฝ้าระวัง เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของสาธารณะชนที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้

คอนสแตนทิน เกิร์ดกีฟ ระบุว่า "การปฏิเสธวงเงินสินเชื่ออาจเป็นการพยายามเพื่อแยกตัวออกจากยูโรโซนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบด้านการประชาสัมพันธ์ ในความเป็นจริง หากมีเงื่อนไขใดๆกำกับวงเงินสินเชื่อ มันจะไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน"

"มีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หลายประการ แต่ผมคิดว่าในระยะสั้นจะยังไม่มีปัญหาใดๆเกิดขึ้น ไอร์แลนด์มีการวางแผน และการคาดการณ์ที่รัดกุมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน"

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่น่าวิตกกังวลอยู่มาก

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังไม่มีทีท่าว่า จะมั่นใจกับการถอนตัวจากโครงการช่วยเหลือทางการเงินของไอร์แลนด์ และสถาบันการเงินผู้ให้บริการตราสารหนี้รายสำคัญก็ยังคงจับตาเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีปัจจัยไม่แน่นอนเกี่ยวกับเสถียรภาพของค่าเงินยูโร และภาคการเงินยุโรป รวมถึงอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในยุโรป

ไอร์แลนด์ไม่สามารถแยกตัวออกจากตลาดที่อ่อนแอในยุโรปได้ แม้ตอนนี้จะมีแนวโน้มที่ดีก็ตาม

IBRC ระบุว่า "หากพวกเขาคำนวนยอดเกินดุล หรือความสามารถในการชำระหนี้ผิดพลาด และต้องการกลับไปหาวงเงินสินเชื่อ มันจะเป็นขั้นตอนที่ยากมาก และอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จหากประเทศอื่นๆในยุโรปต่างก็ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน"

น่าจะมีแรงผลักดันทางการเมืองในการปฏิเสธวงเงินสินเชื่อดังกล่าว แต่คอนสแตนทิน เกิร์ดกีฟ ไม่เห็นด้วยกับคาดการณ์ที่ว่า แรงกระตุ้นทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการประกาศถอนตัวจากโครงการช่วยเหลือด้านการเงินของไอเอ็มเอฟ-อียู ขณะที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของไอร์แลนด์ในปี 2559

คอนสแตนทิน เกิร์ดกีฟ กล่าวว่า "รัฐบาลไม่มีทางเลือกในการกำหนดตารางเวลา สินเชื่อดังกล่าวก็เพื่อประชาชนและเศรษฐกิจ เราดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการขอรับเงินช่วยเหลืออีก นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เมื่อพิจารณาจากขนาดของประเทศ"

แฟรงค์ แบร์รี่ เปิดเผยว่า "กำหนดการณ์สำหรับการถอนตัวจากโครงการช่วยเหลือทางการเงินถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อครั้งที่เราทำข้อตกลงเพื่อขอรับความช่วยเหลือด้านการเงิน"

คอนสแตนทิน เกิร์ดกีฟ กล่าวว่า "เมื่อหมดเขตการช่วยเหลือด้านการเงิน รูปแบบของการจ่ายค่าตอบแทนในกิจการภาครัฐก็จะหมดวาระลงไปด้วย"

"ไอร์แลนด์ยังคงขาดการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกในภาคธุรกิจภายในประเทศอย่าง พลังงาน ประกันภัยสุขภาพ และการศึกษา ทั้งยังไม่มีการปฏิรูปเกี่ยวกับองค์ความรู้ ไอร์แลนด์จำเป็นต้องกำหนดวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจในอนาคตที่จะเข้ามาแทนที่การเติบโตแบบฟองสบู่ที่นำไปสู่วิกฤต"

"การเติบโตอย่างต่อเนื่องต้องใช้การลงทุน และการอุปโภคบริโภคในภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังไม่มีการเติบโตด้านเงินทุนเกิดขึ้นในขณะนี้ "

อันที่จริงแล้ว การถอนตัวออกจากโครงการช่วยเหลือด้านการเงินโดยปราศจากวงเงินสินเชื่ออาจเป็นความเสี่ยงที่ท้าทาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของตลาดต่างๆในยุโรปอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลกำลังเดิมพัน แต่หากพวกเขาพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ชาวไอร์แลนด์จะต้องรับผลพวงจากการเดิมพันดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ