Analysis: การสูญเสียไครเมียส่อกระทบเศรษฐกิจ-นโยบายต่างประเทศของยูเครนในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2014 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดูเหมือนว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะเป็นเดือนที่ท้าทายที่สุดสำหรับยูเครน เนื่องจากสาธารณรัฐไครเมียประกาศแยกตัวเป็นอิสระ และเข้าร่วมผนวกกับรัสเซีย ซึ่งทำให้ยูเครนดำดิ่งสู่วิกฤตที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2534

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความวุ่นวายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของยูเครนในระยะยาว รวมถึงนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศด้วย

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ความสูญเสียของเศรษฐกิจยูเครนจากการที่ไครเมียผนวกรวมกับรัสเซียอาจมีมูลค่าโดยรวมหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

โอเล็คซานดร์ โอครีเมนโก ประธานศูนย์วิเคราะห์ยูเครน (Ukrainian Analytical Center) ระบุว่า "ยูเครนอาจจะมีการสูญเสียเป็นมูลค่าสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี หากรัสเซียยกเลิกนโยบายการลดราคาก๊าซ ซึ่งเป็นข้อเสนอสำหรับการแลกเปลี่ยนกับการให้กองเรือรบแบล็คซี ฟลีท ของรัสเซียประจำการอยู่ในเขตไครเมีย"

ภายใต้สัญญา "ก๊าซสำหรับกองทัพเรือ" ที่ร่วมลงนามกันไว้เมื่อเดือนเมษายน 2553 ระบุว่า รัสเซียยินยอมมอบส่วนลด 100 ดอลลาร์สำหรับการจัดส่งก๊าซให้แก่ยูเครน เพื่อแลกกับการขยายพื้นที่ให้กองเรือรบแบล็คซี ฟลีท สามารถประจำการอยู่ในเขตไครเมียได้อีก 25 ปี

วลาดิเมีย ซาปรีกิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ระบุว่า ยูเครนอาจจะได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ เนื่องจากยูเครนสุญเสียอำนาจในการควบคุมแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในไครเมีย

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ระบุว่า "มีแหล่งน้ำมัน และก๊าซมากมายในไครเมีย และไครเมียก็ถือเป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล"

นักวิเคราะห์คาดว่า แหล่งก๊าซบนชายฝั่งทะเลดำของไครเมียมีประมาณ 3 แสนล้าน - 2 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่แหล่งน้ำมันมีประมาณ 430 ล้านตัน

ผู้เชี่ยวชาญชาวยูเครนบางรายกล่าวว่า ยูเครนอาจจะต้องรับมือกับความสูญเสียบางส่วน ด้วยการปรับขึ้นราคาพลังงาน และน้ำที่จำหน่ายให้ไครเมียสูงขึ้น ซึ่งไครเมียตั้งอยู่ติดกับยูเครนด้วยช่วงคอคอด

เซอร์ไก โซโบเลฟ ผู้นำพรรค"Fatherland" ฝ่ายรัฐบาลของยูเครน กล่าวว่า ยูเครนควรขึ้นภาษีก๊าซ และไฟฟ้าที่ส่งไปยังไครเมียขึ้นเป็น 4 เท่า ขณะที่อาจจะขึ้นค่าน้ำอีก 7 เท่า

เขาระบุว่า "เราไม่ควรให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่พลเมืองของรัสเซีย"

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงทัศนคติในเชิงบวกกับการกำหนดภาษีเฉพาะแก่ไครเมีย ซึ่งถือเป็นเขตที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ในบรรดาพื้นที่ทั้งหมด 26 เขตของยูเครน ขณะที่บางรายออกมาเตือนว่า การกำหนดภาษีเฉพาะอาจเป็นชนวนที่ทำให้การเผชิญหน้าระหว่างยูเครน และรัสเซียทวีความตึงเครียดมากขึ้น

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนจะมองว่า การที่ไครเมียรวมกับรัสเซียนั้น เป็นการกระทำที่ยั่วยุ แต่ยูเครนก็ไม่ยอมรับว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามกฏหมาย

นายอเล็กซานเดอร์ เทอร์ชีนอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน กล่าว่า "ยูเครนจะไม่มีวันยอมรับการเข้ายึดครองเขตแดนของรัสเซีย และเรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้ามาเป็นตัวกลาง"

เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีสมาชิก 193 ราย ได้มีมติปฏิเสธการเข้ายึดครองดินแดนไครเมียของรัสเซีย โดยมี 100 ประเทศเห็นด้วย 11 ประเทศคัดค้าน และงดออกเสียง 58 ประเทศ

แม้ว่ารัฐบาลยูเครนจะออกมาระบุว่าพร้อมที่จะเจรจาเรื่องความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัสเซีย ทว่า รัสเซียกลับปฏิเสธที่จะเจรจาโดยตรง เนื่องจากสงสัยในความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลชุดใหม่ของยูเครน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า จุดยืนที่แข็งกร้าวของรัสเซียอาจบีบให้ยูเครนยกเลิกนโยบายต่างชาติ "Multi-Vector" และพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

วลาดิเมียร์ กอร์แบช นักวิเคราะห์จากสถาบันยูโร-แอตแลนติค โคเปอเรชั่น กล่าวว่า "ในช่วงเวลาแห่งการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนระดับนานาชาติ ทั้งในด้านการเมือง ศีลธรรม และเศรษฐกิจ"

เขากล่าวว่า การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการเมืองร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ยูเครนไม่ได้ต่อสู้กับวิกฤตนี้เพียงลำพัง

เซอร์เกย์ ทารัน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อประชาธิปไตยระหว่างประเทศ ระบุว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวหมายความว่า EU กำลังเปิดทางให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม EU ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ

เขาระบุว่า "ข้อตกลงนี้สร้างโอกาสให้ยูเครนในการเข้าร่วมกับ EU ในฐานะสมาชิกอย่างเต็มตัวได้ นักการเมืองยุโรปบางคนก็เริ่มหารือถึงประเด็นนี้แล้วเช่นกัน"

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านักวิเคราะห์ชาวยูเครนทุกคนจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

คอนสเตนติน บอนดาเรนโก หัวหน้าสถาบันรัฐศาสตร์ยูเครน ระบุว่า "ในแง่ของการทูตนั้นยังคงมีความแคลงใจอยู่ว่ายูเครนได้กลายเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองครั้งใหญ่"

เขาชี้ว่า EU แสดงท่าทีสนับสนุนยูเครนในขอบเขตที่จำกัด ด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพียงแค่ในส่วนของประเด็นการเมืองเท่านั้น

"นั่นหมายความว่า EU ยังไม่ยอมรับให้ยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกหน้าใหม่"

แม้จะมีเสียงไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการเมืองในอนาคตของยูเครน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกลับเห็นพ้องต้องกันว่า ยูเครน และรัสเซียควรจะหาวิธีการแก้ไขวิกฤตด้วยการเจรจาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศนั้นต่างเป็นอิสระ ขณะที่ประชาชนมีความเกี่ยวพันกันทางสังคม และประวัติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกัน นักวิเคราะห์กล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ