Analysis: สื่อจีนชี้การเลือกตั้งครั้งใหม่ในไทยคงจะไม่เกิดขึ้นภายใน 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 28, 2014 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ ภายหลังจากที่ได้เข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่นักวิชาการไทยบางส่วนเชื่อว่า การจัดการเลือกตั้งคงจะยังไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ไป

พล.อ. ประยุทธ์ ให้คำมั่นว่า จะปฏิรูปก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง และชี้ว่า ประชาธิปไตยจะกลับคืนมาเมื่อสันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยหวนคืนสู่ประเทศ

นักวิเคราะห์การเมืองที่มีชื่อเสียงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า อย่างน้อยเราคงจะยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี และคุณอย่าลืมว่า เราต้องปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา

คสช.ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้ก้อเหตุรัฐประหารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยยังคงมาตราที่ 2 ไว้ ซึ่งมีใจความว่า ประเทศไทยมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวกับซินหัวว่า เมื่อเร็วๆนี้ วุฒิสภาได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปลายปี 2556 โดยมีการคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ และจัดตั้งสภาปฏิรูป และหน่วยงานด้านนิติบัญญัติขึ้นมา เพื่อที่จะนำพาประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ไทยจะมีนายกฯและครม.รักษาการ แต่ยังไม่ได้มีการระบุกรอบเวลา และยังเลี่ยงที่จะตอบคำถามที่ว่า ตนเองจะรับตำแหน่งนายกฯเองหรือไม่

นักวิชาการจากม.ธรรมศาสตร์คาดว่า กองทัพจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือน พร้อมกับการปฏิรูปที่คงจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยปีครึ่ง และเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่า การปฏิรูปจะมีประสิทธิภาพเพียงใด

ความคิดเห็นดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มองว่า อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 18 เดือนหรือมากกว่านั้น กว่าที่เราจะได้เห็นการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งต่อไปคงจะต้องฝ่าขวากหนาม นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุ

หากประเทศไทยต้องการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง จะต้องมั่นใจได้ว่า ระบบพรรคการเมืองนั้นมีประสิทธิภาพ เราไม่ต้องการระบบเลือกตั้งที่ครอบครองโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา

นักวิชาการผู้นี้อ้างถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่างๆที่อยู่ข้างพ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากกลุ่มรากหญ้า

นักวิชาการกล่าวว่า หากพรรคการเมืองของทักษิณได้รับชัยชนะทุกครั้ง พรรคการเมืองอื่นๆก็อยากจะจัดระบบขึ้นมาใหม่เหมือนกับเมื่อคราวปี 2549 และครั้งนี้ในปี 2557

เมื่อปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณถูกรัฐประหารโดยกองทัพและถูกบีบให้ลี้ภัยในต่างประเทศนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่จะทำให้ระบบพรรคการเมืองมีประสิทธิภาพนั้น เราต้องมีพรรคการเมืองที่สามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าเดิมมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้น เพื่อที่จะลดทอนความเป็นใหญ่ของพรรคการเมืองของทักษิณ

นักวิชาการท่านนี้แสดงความเห็นว่า ในที่สุดแล้ว การเลือกตั้งในประเทศไทยก็คงจะเกิดขึ้นได้ จริงๆแล้ว การเลือกตั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิมีเสียง หากไทยยังคงเป็นประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งอีก ไทยก็คงจะต้องจัดการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง

รัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงมาจากการประท้วงที่กินเวลา 6 เดือน และทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 30 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 700 ราย อีกทั้งยังฉุดรั้งเศรษฐกิจ และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

กองทัพได้ให้สัญญาไว้ว่า จะพยายามที่จะฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในการประชุมด้านเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ได้มีการเสนอโครงการใหม่ๆ ได้แก่ การจ่ายเงินให้กับชาวนากว่า 800,000 รายที่แบกภาระหนี้อันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำจ้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งคิดเป็นวงเงินประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 2.88 พันล้านดอลลาร์ และโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ได้มีการกำหนดไว้ในรายจ่ายด้านการลงทุนตามปีงบประมาณการคลังปี 2558

โครงการเหล่านี้ได้รับการสานต่อมากกว่าการปฏิเสธนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

นักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวืยาลัย กล่าวว่า เป็นไปได้ที่ว่า นโยบายประชานิยม ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้ในการอธิบายถึงนโยบายของทักษิณและผู้สืบทอดอำนาจ จะยังคงเป็นหนทางที่จะดึงเสียงสนับสนุนจากประชาชน

แต่ก็ต้องดูด้วยว่า การรัฐประหารจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เปิดเผยว่า รัฐประหารถือเป็นปัจจัยลบต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารของไทย ซึ่งสร้างแรงกดดันให้กับนักลงทุน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแออยู่แล้ว และการขยายตัวของเงินกู้ที่ซบเซา และยังบั่นทอนคุณภาพของสินทรัพย์

ภาคการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเตือนเรื่องการเดินทางเยือนไทย ซึ่ง 55 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลกได้มีการประกาศ รวมทั้งการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ การปิดทำการเร็วขึ้นของห้างสรรพสินค้าและระบบขนส่งมวลชน

กลุ่มนักสังเกตการณ์กล่าวว่า ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า กองทัพ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ จะออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

โดย จาง ชุนเซียว, หมิง ต้าจุน และหลี่ หยินซี จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ