Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้การรีแบรนด์ไม่อาจกอบกู้หายนะมาเลเซียแอร์ไลน์ได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2014 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อคณะผู้สืบสวนลงพื้นที่สำรวจชิ้นส่วนเครื่องบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ลางร้ายต่างๆที่เปรียบเสมือนฝูงนกแร้งก็บินว่อนล้อมรอบเศษซากที่เหลืออยู่ของสายการบินประจำชาติมาเลเซีย โดยหายนะทั้งสองครั้งกำลังนำสายการบินแห่งนี้ไปสู่ปากเหวแห่งความล้มละลาย

ความจริงอันเลวร้ายคือ มาเลเซีย แอร์ไลน์ (MAS) อยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ก่อนการสูญเสียที่เป็นปริศนาและน่ากลัวของเที่ยวบิน MH370 ในเดือนมี.ค.ปี 2557

ในขณะนี้ ความสนใจจากทั่วโลกพุ่งไปที่สนามรบในยูเครนเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นบริเวณที่เที่ยวบิน MH17 ตกเมื่อเดือนก.ค. 2557 และอนาคตของสายการบินแห่งชาติมาเลเซียนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

มาเลเซีย แอร์ไลน์ได้ชื่อว่าเป็นสายการบินประจำชาติ และดำเนินงานในฐานะสายการบินของรัฐ รวมถึงมีประวัติการเป็นผู้ให้บริการด้านการบินระดับนานาชาติ แต่มาเลเซีย แอร์ไลน์ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมสายการบินที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งการแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ความผันผวนของตลาดน้ำมันโลก และกลุ่มลูกค้าที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้สภาวะทางธุรกิจมีความน่าหวาดหวั่น

*การดิ้นรนในโลกยุคใหม่

นับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่มาเลเซีย แอร์ไลน์ ได้พยายามแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพในแนวทางใหม่

การอัดฉีดเที่ยวบินราคาถูก และการแข่งขันอย่างดุเดือดจากสายการบินหน้าใหม่ระดับภูมิภาคอย่างแอร์ เอเชีย ได้บีบสัดส่วนผลกำไรท่ามกลางสายการบินต่างๆ ลง

การสูญเสียเครื่องบินโบอิ้งอีกหนึ่งลำของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เพียงแค่เดือนเดียวนับตั้งแต่ช่วงที่สื่อทั่วโลกรวมตัวกันภายใต้ความโศกเศร้าและความคับข้องใจบริเวณเวสต์เทิร์น ออสเตรเลีย ในความหวังอันเลื่อนลอยเกี่ยวกับความเข้าใจชะตากรรมของ MH370 นั้น ได้นำมาเลเซีย แอร์ไลน์ไปสู่ขอบเหวแห่งความล้มละลายทางการเงินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ขณะที่สายการบินต่างๆ ซึ่งเคยประสบปัญหาในช่วงก่อนหน้านี้ อย่างโคเรียน แอร์ และการูด้า อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนรูปแบบเชิงพาณิชย์ แต่ก็ไม่มีสายการบินใดที่สูญเสียภาพลักษณ์ การดำเนินงานและความเชื่อมั่นอย่างถึงที่สุด ดังเช่นมาเลเซีย แอร์ไลน์

อุตสาหกรรมสายการบินกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านแบบนุ่มนวลและค่อยเป็นค่อยไป โดยเอียน ดักลาส วิทยากรอาวุโสด้านการบิน ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า ต้นทุนการดำเนินงานยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ผลกำไรในภาพกว้างของอุตสาหกรรมดังกล่าว ปี 2557 โดยสมาคมการคมนาคมทางอากาศนานาชาติ บ่งชี้ว่าผลกำไรอยู่ที่จำนวนมากกว่า 4 ดอลลาร์เล็กน้อย/ ผู้โดยสารแต่ละคน

“ความกดดันนี้อาจเห็นได้ชัดขึ้นจากการเปิดสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์แห่งที่ 2 ไม่นานนี้ ที่เป็นสนามบินราคาประหยัด ซึ่งสร้างจุดเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสู่ใจกลางเมืองที่อีกฝั่งของสนามบิน แทนที่คลังเก็บสินค้า ผู้โดยสารของแอร์ เอเชียจึงไม่ต้องพึ่งบริการอันดับสองที่สนามบินในบ้านตัวเองอีกต่อไป" นายดักลาสกล่าวจากออสเตรเลีย

*ความเป็นจริงเชิงพาณิชย์

องค์ประกอบพื้นฐานของสถานะงบการเงินของมาเลเซีย แอร์ไลน์ กำลังจะเริ่มส่งผล

ณ ปลายทางการให้บริการเต็มรูปแบบในตลาด มาเลเซีย แอร์ไลน์ เผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากสายการบินเอมิเรตส์ เอทิฮัด กาตาร์ และเตอร์กิช แอร์เวย์ จากบทบาทดั้งเดิมในการส่งผู้โดยสารจากออสตราเลเซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ยุโรป

โอกาสสำหรับมาเลเซีย แอร์ไลน์ในการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเครือข่าย One World Alliance ได้หายไปเช่นกัน เนื่องจากควอนตัส สายการบินประจำชาติออสเตรเลีย หันไปร่วมกับเอมิเรตส์ในการพาผู้โดยสารออสเตรเลียมาตามเส้นทางระยะยาวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และควอนตัสได้ลดความสนใจในมาเลเซีย แอร์ไลน์ลง ในโปรแกรมการสะสมไมล์ (Frequent Flyer) ด้วยการเปลี่ยนสถานะเครดิตสะสมจากเที่ยวบินมาเลเซีย แอร์ไลน์มาเป็นกัวลาลัมเปอร์ ในโปรแกรมที่เพิ่งปรับใหม่ไม่นานนี้

เสียงเรียกร้องในขณะนี้ยืนกรานว่ามาเลเซีย แอร์ไลน์ต้องการการแทรกแซงอย่างเด่นชัดจากทุกฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์ ผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรม และกองทุนการลงทุนของรัฐบาลมาเลเซีย (คาซานะห์ นาชั่นนาล : Khazanah Nasional ซึ่งถือครองมาเลเซีย แอร์ไลน์ 69%) ต้องเข้ามาจัดการควบคุมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่เชิงลึกและโดยเฉพาะ พร้อมๆ กับการใช้ระยะเวลาเยียวยาสายการบินมาเลเซีย จากบาดแผลสาหัสของโศกนาฏกรรมถึงสองครั้ง ที่ได้เปลี่ยนลักษณะการเดินทางทางอากาศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนที่สำคัญนั้นมีน้อยอย่างน่าใจหาย และพันธมิตรที่มีศักยภาพในภูมิภาคก็ไม่เพียงพอ

การร่วมลงทุนกับแอร์ เอเชียพังทลายอย่างรวดเร็ว และการเจรจากับควอนตัสของออสเตรเลีย (ซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องการลดค่าใช้มหาศาล) ได้ค่อยๆ หายไป นายดักลาสกล่าว

“ไทย แอร์เวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ติดอยู่ในโครงสร้างการเมืองไทยอย่างเหนียวแน่น ขณะที่เอมิเรตส์เองได้ถอนการลงทุนในหุ้น เมื่อก่อตั้งความเป็นพันธมิตรกับควอนตัส ขณะที่เอทิฮัดได้สร้างการดำเนินงานประจำภูมิภาคในเวอร์จิ้น ออสเตรเลีย พร้อมกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และแอร์ นิวซีแลนด์"

ปัญหาทางการเงินของมาเลเซีย แอร์ไลน์ที่ดาหน้าเข้ามา เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความจำเป็นในการพลิกสภาพการณ์อย่างรีบด่วน แต่เมื่อเที่ยวบิน MH370 พร้อมผู้โดยสาร 239 ราย หายไปต่อหน้าต่อตาชาวโลกในเดือนมี.ค. และปริศนานี้ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลาย เมื่อเที่ยวบิน MH17 พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 298 ราย ตกเมื่อวันที่ 17 ก.ค.เหนือเขตแดนยูเครน การวางเดิมพันทั้งหมดเกี่ยวกับมาเลเซีย แอร์ไลน์จึงจบลง

รายงานจากนักวิเคราะห์ในแวดวงระบุว่า การที่มาเลเซีย แอร์ไลน์สูญเงิน 1 ถึง 2.13 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) ได้สร้างความวิตกแก่นักลงทุนและเจ้าหน้าที่รัฐบาล

แต่สำหรับลูกค้าแล้ว ความอยู่รอดของมาเลเซีย แอร์ไลน์กระจัดกระจายอยู่ทั่วสนามรบของยูเครนในช่วงสงคราม

ในการแสดงความกล้าหาญ แต่ไร้ประโยชน์ในท้ายที่สุด นายฮิวจ์ ดันเลวี ผู้อำนวยการด้านการค้าของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เขียนในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สายการบินยังคงอยู่รอดจากโศกนาฏกรรมทั้งสองครั้ง และ “ค่อยๆ แข็งแกร่งขึ้น"

แต่ดันเลวีเปรียบเสมือนเสียงเดียวในมหาสมุทร ที่ว่างเปล่าพอๆ กับมหาสมุทรทางใต้ ซึ่งกลืนเที่ยวบิน MH370 เข้าไปทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัด

*การเปลี่ยนชื่อที่ไม่เปลี่ยนสิ่งใด

การรีแบรนด์เชิงรุกเป็นวิธีที่เชื่อกันในวงกว้างว่าดีที่สุด แต่บางที อาจเป็นแค่เส้นทางหนึ่งเท่านั้น

ภาพอันเจ็บปวดที่เผยแพร่ไปทั่วโลกของครอบครัวผู้สูญเสียจากเที่ยวบิน MH370 ซึ่งดูเหมือนได้รับการดูแลไม่ต่างจากปศุสัตว์จากรัฐบาลมาเลเซีย แทบจะไม่อาจลบออกไปได้เพียงแค่การเปลี่ยนชื่อ

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหรรมในออสเตรเลียเน้นว่า การเปลี่ยนแปลงหน้าตาเช่นนี้ต้องทำหลังจากที่โครงสร้างธุรกิจนั้นเสียหายไปแล้ว และสร้างขึ้นใหม่จากระดับเริ่มต้น

“การเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มเครื่องบิน เครือข่าย และการดำเนินงานของมาเลเซีย แอร์ไลน์เป็นเพียงแค่ขั้นแรกเท่านั้น" นายดักลาสกล่าว

“การปล่อยให้สายการบินดำเนินงานอย่างอิสระ ในฐานะบริษัทเชิงพาณิชย์อย่างแท้จริงอาจยากลำบากยิ่งขึ้น แต่หากปราศจากอิสรภาพนั้น อนาคตของมาเลเซีย แอร์ไลน์ คงจะดูสิ้นหวัง และต้องพึ่งการอัดฉีดเงินเป็นระยะ เนื่องจากสถานภาพการแข่งขันได้หายไปแล้ว เมื่อเทียบกับผู้แข่งขันรายอื่นในภูมิภาค ที่ให้บริการเที่ยวบินราคาถูก รวมถึงเที่ยวบินระยะยาวที่เพิ่มขึ้นจากสายการบินอื่นๆ"

เมื่อนั้น มาเลเซีย แอร์ไลน์จะมีสิทธิและศักดิ์ศรี ในการกลบฝังอดีตและชูธงใหม่หรือไม่

บทวิเคราะห์โดย คริสเตียน เอ็ดเวิร์ด จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ