สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนส.ค.ลดลงแตะ 51.1 จากระดับ 51.7 ในเดือนก.ค.
ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า และหากดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 จุดก็จะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
ดัชนีย่อยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในเดือนส.ค. โดยดัชนีการผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และปริมาณการจัดซื้อนั้นร่วงลงหนักสุด
จาง หลี่กุน นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งสภารัฐจีน กล่าวว่า "ตัวเลข PMI บ่งชี้ถึงแรงกดดันขาลงที่มีต่อเศรษฐกิจ"
เมื่อแบ่งตามประเภทแล้ว ดัชนีการผลิตหดตัว 1% จากเดือนก่อนหน้าแตะ 53.2% ขณะที่ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลง 1.1% แตะ 52.5 หลังจากที่ได้ทะยานแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนพ.ค. 2555 ในเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดัชนีดังกล่าวยังอยู่เหนือระดับ 50 นักเศรษฐศาสตร์รายนี้จึงคงคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
ส่วนดัชนีแนวโน้มธุรกิจปรับตัวสวนทางดัชนีส่วนใหญ่ โดยดัชนีดังกล่าวได้ดีดตัวขึ้น 2.6% แตะ 57.9% ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าบ่งชี้ถึงทัศนคติในเชิงบวกต่อช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนส.ค. อ่อนแรงลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 50.2 จากข้อมูลเบื้องต้นที่ 50.3 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน
นายฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีกล่าวในแถลงการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงช่วงขาลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอของเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกับดัชนีจาก NBS แล้ว ธุรกิจขนาดเล็กให้ความสำคัญต่อรายงานของ HSBC มากกว่า
หลังจากที่เริ่มต้นปีนี้อย่างไม่มั่นคงเท่าไรนัก เหล่าผู้กำหนดนโยบายของจีนได้ตั้งความหวังไว้กับการกระตุ้นการใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงการออกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
รัฐบาลได้พุ่งความสนใจไปยังการปรับโครงสร้างสินเชื่อ ผ่านการสั่งการให้กระแสสินเชื่อถูกจัดสรรไปยังภาคการเกษตรและธุรกิจขนาดเล็ก นอกเหนือไปจากการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด
เนื่องด้วยความพยายามนี้เอง เศรษฐกิจจีนจึงได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสสอง โดยได้ขยายตัวแตะ 7.5% จาก 7.4% ในไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ข้อมูลล่าสุดได้บ่งชี้ถึงการขาดแคลนปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ เหล่านักวิเคราะห์จึงมองว่า ทางรัฐบาลน่าจะยกระดับนโยบายกระตุ้นขนาดเล็กในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารกลางจีนได้สำรองเงินเพิ่มเติมเป็นจำนวน 2 หมื่นล้านหยวน (3.24 พันล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ในโครงการปล่อยสินเชื่อสำหรับภาคการเกษตร
รายงานจาก BofA Merrill Lynch Global Research ระบุว่า "แม้ว่าจะมีเครื่องบ่งชี้ที่น่าผิดหวังอยู่บ้าง แต่เราคาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวอีกครั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หลังจากที่รัฐบาลได้ยกระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
ทั้งนี้ ทางธนาคารได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ 7.4% สำหรับไตรมาสสามและสี่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน