Analysis: แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียส่งสัญญาณความต่างมากขึ้น ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวทั่วโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 15, 2014 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ชั้นนำด้านการเงินจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศ ต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลกระหว่างการประชุมช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่บรรดานักวิเคราะห์ก็พากันคาดการณ์ไปในทิศทางที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศแถบเอเชีย ซึ่งใช้มาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างแบบจริงจังมีแนวโน้มว่า จะบรรลุผลมากกว่า

ภายหลังการหารือเป็นเวลา 2 วันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกรุงวอชิงตัน เจ้าหน้าด้านการเงินจากประเทศกลุ่ม G20 เรียกร้องให้มีการดำเนินการเชิงรุกยิ่งขึ้น เพื่อยุติปัญหาการขยายตัวที่อยู่ต่ำกว่าระดับปกติทั่วโลก โดยระบุว่ายูโรโซนเป็นพื้นที่ที่น่าวิตกกังวลมากที่สุด

แม้กระทั่งในเอเชีย ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ล้วนบ่งชี้ว่าปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวดูเหมือนจะอ่อนแรงลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สถาบันวิจัย Deutsche Bank Research ระบุว่า จีนยังคงอยู่ช่วงภาวะอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ ความหวังถึงช่วงขาขึ้นนั้นมีเพียงน้อยนิด ซึ่งสังเกตเห็นได้จากสัญญาณของยอดส่งออกที่ปรับตัวขึ้น ทั้งที่การส่งออกมีความสำคัญอย่างมากในการรักษาระดับการขยายตัวให้ต่อเนื่อง

ส่วนอินเดียเองก็กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวปานกลาง โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคและทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การผลิตและยอดขายรถก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน แต่การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารที่อ่อนแรงและการจัดเก็บภาษี รวมถึงการค้าขายที่ซบเซา ตอกย้ำให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ขาดปัจจัยกระตุ้น

ทั้งนี้ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ส่อให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นลบต่อการหมุนเวียนของเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และเงินรูเปียร์ ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เองดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะอุปสงค์ภายนอกที่ไม่แน่นอน ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศก็อ่อนแอ ส่วนประเทศไทยเองก็กำลังดิ้นรนเพื่อหาทางออกจากภาวะอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อหันมามองด้านที่สดใสในเอเชีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์คือประเทศที่แข็งแกร่งในเอเชียระยะนี้ โดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของมาเลเซียปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทรงตัว และยอดขาดดุลงบประมาณลดลง ด้านฟิลิปปินส์นั้น การบริโภคและการลงทุนที่แข็งแกร่งยังคงหนุนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เอเชียดูเหมือนจะไม่ได้อยู่ในช่วงขาลง แต่หลายอย่างก็ไม่ได้สดใสเมื่อมีการพิจารณาอย่างใกล้ชิด โดย HSBC สถาบันการเงินระดับโลกเปิดเผยว่า เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อยู่ในช่วงระมัดระวัง ล้วนเป็นปัจจัยที่กำลังบั่นทอนการกระตุ้นเศรษฐกิจของเอเชีย

ความท้าทายที่ซ่อนเร้นและเป็นความท้าทายที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ คือ ภาวะการชะลอตัวในเอเชีย ที่ไม่ได้ผันผวนไปตามช่วงเวลาแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การที่ประเทศแถบเอเชียจะเดินไปสู่เส้นทางการขยายตัวอันยั่งยืนยิ่งขึ้นนั้น ประเทศในเอเชียแต่ละประเทศจำเป็นต้องเพิ่มการปฏิรูป แทนที่จะมาหวังพึ่งมาตรการกระตุ้นเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัว

ในขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในชาติตะวันตกอย่างเต็มที่นั้นมีเพียงพอที่จะดึงเอเชียออกจากความอ่อนแอนั้น ยังคงเป็นความคาดหวังอันห่างไกล สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ สถาบันวิจัยระดับโลกชี้ว่า การฟื้นการขยายตัวในเอเชีย จึงขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะดำเนินการปฏิรูปเชิงลึกอย่างไร เช่น การลดเงินอุดหนุน การลงทุนกับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น การกระตุ้นการศึกษา การเปิดรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการเพิ่มการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในตลาดท้องถิ่น

ในกรณีของจีนนั้น สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ระบุว่า การขยายตัวรูปแบบเดิมๆ ซึ่งพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก ไม่มีแนวโน้มว่าจะผลักดันจีนไปสู่การพัฒนาขั้นต่อไป จากการเป็นประเทศรายได้ขั้นกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

การบริโภคควรจะมีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุน และภาคบริการก็ควรจะมีบทบาที่สำคัญด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับภาคการก่อสร้างและภาคการผลิต สำนักข่าวซินหัวรายงาน


แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ