Analysis: นักวิเคราะห์คาดสกุลเงินเอเชียผันผวนมากขึ้นในปีหน้า ขณะดอลล์แข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 2, 2014 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ระบุว่า หลังจากที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งเหนือระดับ 1.30 ดอลลาร์สิงคโปร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2554 สกุลเงินในเอเชียในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้ อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์

สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยของเอเชีย ก็ไม่เว้นที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงหลายระลอกของสกุลเงินต่างๆในเอเชียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเร็วๆนี้ ดอลลาร์สิงคโปร์ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน โดยพุ่งขึ้นไปแตะสูงถึง 1.3101 ดอลลาร์สิงคโปร์เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในการซั้อขายช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. ก่อนจะอ่อนแรงมาอยู่ใกล้ 1.30 ดอลลาร์สิงคโปร์

ยูโอบี โกลบอล อิโคโนมิคส์ แอนด์ มาร์เก็ต รีเสิร์ช กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ดอลลาร์อาจจะแข็งค่าสู่ระดับ 1.3453 ดอลลาร์สิงคโปร์ในไตรมาสแรกปีหน้า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มในปัจจุบัน

ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ยากลำบากของสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ยังปรับตัวลงเมื่อเทียบกับยูโรอีกด้วย

เอชเอสบีซี โกลบอล รีเสิร์ช ระบุว่าการปรับตัวลงของสกุลเงินเอเชียช่วยให้มองเห็นแนวโน้มในปี 2558 ซึ่งอาจจะมีความผันผวนมากขึ้นและตลาดปริวรรตเงินตราในเอเชียจะอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง แม้แต่เงินสกุลหยวนก็จะเข้าสู่ช่วงที่มีความผันผวนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

เอบีเอ็น แอมโร รีเสิร์ช ระบุว่า ความผันผวนที่สูงขึ้นดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการทะยานขึ้นต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐ โดยการปรับตัวขึ้นของดอลลาร์สหรัฐจะได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐกำลังปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศปรับตัวลงและตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

นอกจากนี้ แนวโน้มของสกุลเงินดอลลาร์ยังมีความสดใส ท่ามกลางการคาดการณ์ในวงกว้างว่า สหรัฐจะเริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินในปี 2558 ส่วนธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะยังคงใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มขึ้นงเพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อต่ำเกินไป และเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ในขณะที่สกุลเงินอื่นๆจะยังคงมีความยืดหยุ่นมากกว่าสกุลเงินเอเชีย เอชเอสบีซีระบุว่าภาวการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจนน้อยลงเมื่อการดำเนินนโยบายของอีซีบีและบีโอเจได้เริ่มส่งผลต่อตลาด

ถึงแม้ว่าสกุลเงินเอเชียที่ค่อนข้างจะมีความสมดุลในต่างประเทศเช่นสกุลหยวนของจีน สกุลวอนของเกาหลีใต้ และสกุลดอลลาร์สิงคโปร์จะมีสถานะที่ดีกว่า แต่การออกมาตรการเพิ่มเติมของอีซีบีและธนาคารกลางญี่ปุ่นจะกระตุ้นให้ดอลลาร์แข็งค่ายิ่งขึ้น มีแต่จะส่งผลให้สกุลเงินเหล่านี้ปรับตัวลดลงเท่านั้น

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเอเชียยังมีแนวโน้มจะไม่เข้าแทรกแซงการปรับตัวลดลงของสกุลเงินของประเทศดังเช่นที่เคยทำในอดีต เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงในหลายประเทศ และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ชะลอลง

บทวิเคราะห์โดย ชีห์ หมิง จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ