Analysis: นักวิเคราะห์ชี้ราคาน้ำมันร่วงเปิดช่องทางปฏิรูปภาคธุรกิจพลังงานจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 7, 2015 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ร่วงลง และจะได้รับประโยชน์มากขึ้นยิ่งไปกว่านั้น หากจีนสามารถคว้าโอกาสในจังหวะนี้ไว้ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านการกำหนดราคา

สัญญาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนก.พ.ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2552 ในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก่อนจะปิดที่ระดับ 50.23 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ยังได้ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีครึ่งเช่นกัน

รายงานจากมูดีส์ระบุว่า การร่วงลงของราคาน้ำมันนั้น เนื่องมาจากปริมาณน้ำมันที่มีมากเกินความต้องการของตลาด และคาดว่า จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากปัจจุบัน "ยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอุปสงค์และอุปทาน"

สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นข่าวดีสำหรับจีน ซึ่งปริมาณการใช้น้ำมันราว 58% มาจากการนำเข้า โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งจีนเปิดเผยว่า จีนได้นำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวน 281.92 ล้านตันในปี 2556 คิดเป็นมูลค่าถึง 2.196 แสนล้านดอลลาร์

นายหวาง เต๋า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ UBS คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลให้จีนมีต้นทุนนำเข้าน้ำมันลดลงราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557

เมื่อมองในระดับจุลภาคแล้ว นักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันที่ถูกลงจะส่งผลให้แรงกดันเงินเฟ้อหดตัว และเปิดช่องทางให้เหล่าผู้กำหนดนโยบายสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้มากยิ่งขึ้นหากจำเป็น

และเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนักทั่วโลกน่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจจีน ซึ่งกำลังประสบกับภาวะการชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ อุปสงค์อ่อนแรงและการส่งออกที่ไร้เสถียรภาพ โดยในช่วงสามไตรมาสแรก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนได้ขยายตัว 7.4% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 7.5% เล็กน้อย

ซิติก ซิเคียวริตีส์ คาดการณ์ว่า หากราคาน้ำมันดิบร่วงลง 20-50% เศรษฐกิจจีนก็น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มราว 0.14-0.36% ในปีนี้

นอกเหนือไปจากผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งประโยชน์สำคัญที่จีนจะได้รับจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน ได้แก่ โอกาสสำหรับรัฐบาลจีนที่จะเดินหน้าแผนปฏิรูปในการกำหนดราคาภาคธุรกิจพลังงาน

ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลจีนตั้งใจที่จะคงราคาน้ำมันและก๊าซให้ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก เพื่อรักษาระดับของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มภาคพลังงานที่ค่อนข้างจะรุนแรงแล้ว รัฐบาลจีนจึงได้ตัดสินใจเปิดโอกาสให้ตลาดเข้ามามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อชี้นำผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง

ทางการจีนได้ออกมายืนยันถึงคำมั่นที่จะส่งเสริมการปฏิรูประบบการกำหนดราคาในภาคพลังงานและทรัพยากรของประเทศ แต่กระบวนการปฏิรูปเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากความวิตกกังวลต่อกระแสตอบรับจากประชาชน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

หลิน โป๋เชียง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจพลังงานจีนประจำมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่ร่วงลงในปัจจุบันประกอบกับความต้องการที่ชะลอตัวในจีน ได้ก่อให้เกิด "เงื่อนไขพื้นฐาน" ในการยกระดับกลไกการกำหนดราคา

กลไกการปรับราคาน้ำมันของจีนจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 50 หยวน (8.14 ดอลลาร์)/ตัน ภายในช่วง 10 วันทำการ

รัฐบาลจีนได้ปรับลดราคาเชื้อเพลิงค้าปลีกเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนก.ค. เพื่อให้ตอบรับกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่ระบบดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของรัฐบาล โดยหลินชี้ว่า รัฐบาลควรกระจายอำนาจแก่หน่วยงานภายนอก เพื่อยกระดับความโปร่งใสและปรับปรุงให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลิน กล่าวว่า "กลไกที่โปร่งใสมากขึ้นยังจะช่วยสร้างภาวะแวดล้อมอันมั่นคง เพื่อกระตุ้นให้ภาคพลังงานได้รับทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น"

ตลาดน้ำมันจีนมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น Sinopec, PetroChina และ CNOOC ซึ่งประชาชนมองว่าไม่มีประสิทธิภาพและยังสามารถเปิดช่องทางให้มีการทุจริต

ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้อาจจะไม่เต็มใจที่จะปฏิรูปองค์กร แต่เมื่อราคาน้ำมันโลกลดลงจนส่งผลต่อผลกำไร บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ทุนทางสังคมเข้าสู่ภาคธุรกิจพลังงาน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ