ธนาคารกลางจีนเปิดเผยในการประชุมดำเนินงานประจำปี 2558 เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า จีนจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่รัดกุมในปี 2558 โดยมีการสอดประสานกันมากขึ้นระหว่างมาตรการทางการเงินที่คุมเข้มและผ่อนคลายกับการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม
ธนาคารกลางจีนจะเสริมความแข็งแกร่งด้านการสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง การลดค่าใช้จ่ายในการระดมทุน และการส่งเสริมการปฏิรูปทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน และการบริหารจัดการด้านปริวรรตเงินตรา
นายเจิ้ง กัง นักวิเคราะห์จากสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่า นโยบายการเงินควรสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริงและการปรับโครงสร้าง ท่ามกลางแรงกดดันช่วงขาลง โดยเขาคาดว่าสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นในปีนี้
การขยายตัวของปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ M2 ซึ่งครอบคลุมเงินสดหมุนเวียนและเงินฝากทั้งหมด ชะลอลงแตะ 12.3% เมื่อเทียบรายปี ณ สิ้นเดือนพ.ย.
ธนาคารกลางจีนได้ใช้เครื่องมือใหม่ๆเพื่อรับมือกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในปี 2557 ซึ่งรวมถึง วงเงินปล่อยกู้ระยะกลาง (MLF) และการปล่อยกู้แบบ Pledged Supplementary Lending (PSL) ซึ่งธนาคารกลางจะปล่อยกู้โดยตรงแก่ธนาคารต่างๆเพื่อให้นำไปปล่อยกู้ต่ออีกทอดหนึ่ง
ไชน่า ซิเคียวริตีส์ เจอร์นัลรายงานเมื่อวานนี้ว่า ธนาคารของรัฐบาลขนาดใหญ่หลายแห่งระบุว่า ธนาคารกลางจะขยายเงื่อนไขของเงินกู้ MLF 2.80 แสนล้านหยวนที่ครบกำหนด เพื่อที่จะผ่อนคลายภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัว
นายเจิ้งกล่าวว่า เครื่องมือใหม่ๆดังกล่าวมีความยืดหยุ่นและเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับสภาพคล่องที่เพียงพอ สนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง และอำนวยความสะดวกในการปรับโครงสร้าง ขณะที่มาตรการเดิมๆ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยและสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ก็ยังคงเป็นทางเลือกเช่นกัน
นายเจ้า ซีจุน รองผู้อำนวยการสถาบันการเงินและหลักทรัพย์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีน คาดว่าจะมีการดำเนินแผนการดังกล่าวในปีนี้ ซึ่งจะลดความเสี่ยงขณะที่เพิ่มศักยภาพของธนาคารต่างๆในการสนองตอบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง
“ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในภาวะอ่อนแอ แต่ไม่ได้ทรุดตัว" นายจาง จีเหว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดอยช์ แบงก์ กล่าว “เรามองว่าไม่มีความเร่งด่วนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"
เขาคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายในรูปแบบของการลด RRR, ลดดอกเบี้ย, เพิ่มการระดมทุนเชิงสังคมทั้งหมด หรือแม้แต่การแถลงอย่างเป็นทางการที่บ่งชี้ถึงการปรับนโยบาย
“เราคาดว่าจะมีการปรับลด RRR ครั้งแรกในช่วงไตรมาส 1 และจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยมีแนวโน้มมากขึ้นว่าจะเริ่มในเดือนมี.ค." นายจางกล่าวเสริม
นายจู ไห่ปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของเจ พี มอร์แกน ระบุว่าอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอและเงินเฟ้อต่ำ จะทำให้เกิดแนวโน้มในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า การขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญนั้น ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แตะระดับ 1.5% ในเดือนธ.ค. เทียบกับ 1.4% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวที่สุดนับแต่เดือนพ.ย.2552
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนธ.ค. ร่วงลง 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งย่ำแย่สุดในรอบกว่า 2 ปี และดัชนี PPI ในปี 2557 หดตัวลง 1.2% เทียบรายปี
แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงจะทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ธนาคารกลางจีนจะริเริ่มมาตรการต่างๆเพื่อหนุนการเติบโต
“เราคาดว่าอัตรา CPI โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.5% และดัชนี PPI ที่ -1.5% ในปี 2558" นายจูกล่าว “CPI ที่ต่ำและ PPI ที่ติดลบจะเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกมากขึ้น"
นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ครั้งและปรับลด RRR ลง 2 ครั้ง และมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 และ ไตรมาส 2 ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินการควบคู่กับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอื่นๆ เช่น MLF และ PSL
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ธนาคารกลางจีนไม่ได้ผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและลด RRR แต่ได้สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2555 ซึ่งจุดปะทุกระแสคาดการณ์ที่ว่าจะมีการดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การลด RRR ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่ตัวเลขการขยายตัวในปี 2557 มีแนวโน้มจะเป็นอัตราที่ชะลอตัวที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ สำนักข่าวซินหัวรายงาน