Analysis: นายกฯอิตาลีรับภารกิจหินสรรหาตัวแทนภายหลังการสละเก้าอี้ของประธานาธิบดีนาโปลิตาโน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 16, 2015 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การลาออกของประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโน ก่อให้เกิดอุปสรรคขวากหนามใหม่สำหรับนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี ซึ่งต้องยุติแผนปฏิรูปชั่วคราวเพื่อเตรียมเลือกสรรผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อจากอดีตประธานาธิบดีนาโปลิตาโน

นายนาโปลิตาโนซึ่งจะมีอายุครบ 90 ปีในเดือนมิ.ย. ได้ประกาศอย่างชัดเจนเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2556 ว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพในวัยชรา ซึ่งความจริงแล้ว นาโปลิตาโนจะต้องดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2563 หรือเมื่อเขาอายุ 95 ปี

นายกรัฐมนตรีเรนซีวัย 40 ปีได้โน้มน้าวให้นายนาโปลิตาโนอยู่ในตำแหน่งต่ออย่างน้อยอีก 2-3 สัปดาห์จนถึงหลายเดือน จนกว่าเขาจะสามารถผลักดันแผนการลดขนาดวุฒิสภา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม นายนาโปลิตาโนก็ได้ปฏิเสธที่จะทำตามคำขอ พร้อมกล่าวว่า แผนการลาออกเมื่อวันพุธไม่สามารถต่อรองได้ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ช่วงเวลานี้สร้างความยุ่งยากหลายอย่างให้กับนายเรนซี

"ผมมั่นใจว่า ณ ขณะนี้ มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่นายกรัฐมนตรีเรนซีอยากให้ความสำคัญมากกว่า โอเรสเต มาซซารี นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Sapienza University ในโรมกล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์ "แต่การหาผู้นำประเทศคนใหม่เป็นเรื่องที่ต้องมาเป็นดับแรก"

มาซซารี และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆมองว่า นายเรนซีจะต้องมองหาผู้ที่จะสนับสนุนตนเองเช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีนาโปลิตาโน ขณะที่แสวงหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาหลากหลายกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ที่อยู่ในพรรคของเรนซีเอง และเคยเป็นฐานเสียงให้กับปิแยร์ ลุยชี แบร์ซานี คู่แข่งในพรรคของเขาเอง ตลอดจนกลุ่มนักการเมืองที่มีผู้นำคือ ซิลวิโอ แบร์ลุซโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ชอบคัดค้าน และเคยสนับสนุนเรนซีอยู่ระยะหนึ่ง

หากเป็นไปได้ ประธานาธิบดีคนใหม่ควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างจริงจังเช่นเดียวกับนาโปลิตาโน ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอิตาลีผู้ค่อนข้างอ่อนประสบการณ์ให้ความสำคัญโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ นายเรนซีเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ก่อนที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้เพียง 11 เดือน

ตำแหน่งประธานาธิบดีจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากเสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของรัฐสภา

"ความท้าทายที่แท้จริงคือ การสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ และสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้" ฟรังโก ปาโวนแชลโล อธิการบดีมหาวิทยาลัย John Cabot University กล่าวให้สัมภาษณ์

ปาโวนแชลโล มองว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดคือ นายโรมาโน โปรดี วัย 75 ปี เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเป็นประธานคนที่ 10 ของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ถึงแม้ว่า โปรดีจะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศอย่างกว้างขวาง แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเขาเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่ไม่กินเส้นกับ Berlusconi ที่น่าจะคัดค้านการรับรองตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ มาซซารีแสดงความเห็นว่า การตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อย่างไม่สมัครใจของนาโปลิตาโนเมื่อสองปีที่แล้วเป็นผลมาจากการไร้ความสามารถของโปรดีในการรวบรวมเสียงสนับสนุนให้มากพอเพื่อที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดี โดยรัฐสภาในสมัยนั้นก็ยังคงเป็นรัฐสภาชุดเดียวกับปัจจุบัน

ส่วนผู้สมัครตัวเก็งอื่นๆที่สื่ออิตาลีพูดถึงได้แก่ นายชูเลียโน อมาโต อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งของอิตาลี Pier Carlo Padoan รัฐมนตีกระทรวงการคลัง Walter Veltroni อดีตนายกเทศมนตรีของโรม และ Roberta Pinotti รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน

"สื่ออิตาลีนำเสนอรายชื่อตัวเก็งจำนวนมาก แต่ทั้งหมดล้วนมีจุดอ่อนทั้งสิ้น" มาซซารีกล่าว "นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่เดาได้ยากจริงๆ"

ขณะเดียวกัน มาริโอ ดรากิ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี และประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คนปัจจุบันซึ่งเป็นผู้สมัครคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติโดดเด่นก็ประกาศออกมาแล้วว่า เขาไม่สนใจที่จะลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้

แม้ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งทางพิธีการเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็นับว่ามีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่การเมืองไร้เสถียรภาพ โดยประธานาธิบดีจะช่วยดูแลการดำเนินงานเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ หรือจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ