วานนี้ สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 48.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่หดตัวลง 3.2% ในเดือนม.ค. อย่างไรก็ตาม ยอดนำเข้าร่วง 20.1% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องและลดลงมากกว่าระดับ 19.7% ในเดือนก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกเดือนก.พ.อยู่ที่ 1.04 ล้านล้านหยวน (1.6911 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่มูลค่านำเข้าแตะที่ 6.661 แสนล้านหยวน ส่งผลให้จีนเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.705 แสนล้านหยวน
ทั้งนี้ จีนพยายามอย่างหนักที่จะลดการพึ่งพาการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ ด้วยการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นายเกา ฮูเฉิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า แม้การค้าระหว่างประเทศเดือนก.พ.ปรับตัวลง แต่เขามั่นใจว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายการค้าของปีนี้
ตัวเลขจาก GAC แสดงให้เห็นว่า การส่งออกและนำเข้าของจีนลดลง 2% ในช่วงสองเดือนแรกปีนี้ เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 3.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เศรษฐกิจจีนจะซบเซาในช่วงต้นปี เนื่องจากธุรกิจและโรงงานหลายแห่งปิดทำการเป็นสัปดาห์เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งในปีนี้ตรงกับเดือนก.พ. ขณะที่ปีก่อนตรงกับเดือนม.ค.
จาง กว่างจือ โฆษก GAC กล่าวว่า บริษัทจีนมีธรรมเนียมที่จะเร่งการส่งออกก่อนช่วงเทศกาล เมื่อพิจารณาร่วมกับผลสืบเนื่องจากปีที่แล้ว จึงเป็นเหตุให้เกิดความผันผวนด้านการส่งออก
GAC ระบุว่า หากไม่นับรวมปัจจัยตามฤดูกาล มูลค่าการค้าโดยรวมปรับตัวลง 7.2% ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. โดยส่งออกปรับตัวขึ้น 1.2% และนำเข้าลดลง 17.3%
นักวิเคราะห์มองว่าการนำเข้าที่ต่ำกว่าการส่งออกนั้น เน้นย้ำให้ถึงความจำเป็นในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ
จาง หลี่ชุน นักวิจัยจากศูนย์วิจัยการพัฒนาประจำคณะรัฐมนตรีจีน เปิดเผยว่า การนำเข้าจากประเทศคู่ค้าต่างประเทศรายสำคัญของจีนต่างปรับตัวลงทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และความต้องการภายในประเทศที่ซบเซา
ขณะที่ฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ HSBC ประจำประเทศจีน กล่าวว่า เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศส่อเค้าไม่แน่นอนในปีนี้ อุปสงค์ภายในประเทศจึงยังคงเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ "เราคาดว่ารัฐบาลจีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัว"
เหมย ซิงเปา สมาชิกคณะกรรมการการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติของจีน ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางการเมืองสูงสุดของประเทศ ระบุว่า โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการค้าในเอเชีย "Belt and Road" จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพการเติบโต ผ่านทางการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการส่งออกของภาคการผลิต
"Belt and Road" หมายถึงโครงการแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ซึ่งจีนเป็นผู้เสนอเมื่อปี 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความร่วมมือของประเทศในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา
หลังจากนั้นในเดือนก.พ. จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) มูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บริการด้านการลงทุนและการระดมทุนแก่ประเทศต่างๆ รวมถึงนักลงทุนตามแนวเขตเศรษฐกิจสายนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน