"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับกลุ่มฮูตีเลย แต่พุ่งเป้าไปที่อิหร่านต่างหาก" นายมูฮัมหมัด อับเดล วาฮับ นักเขียนชาวอียิปต์และนักวิเคราะห์ทางการเมืองที่เชี่ยวชาญการเมืองอาหรับ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว "กลุ่มฮูตีเป็นเครื่องมือของอิหร่านซึ่งเป็นภัยคุกคามแท้จริงต่อความมั่นคงของชาติอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบีย"
ซาอุดิอาระเบีย และพันธมิตรในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ได้เปิดการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มฮูตีในเยเมน โดยทางอิหร่านได้ออกมาประนามการกระทำดังกล่าว ขณะที่สหรัฐอเมริกา อียิปต์ จอร์แดน และโมรอคโกให้การสนับสนุน
การโจมตีทางอากาศมีเป้าหมายที่กลุ่มกองกำลังฮูตีนิกายชิอะห์ในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน ซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองไป 4 ราย โดยอิหร่านได้รีบออกมาประนามการโจมตีดังกล่าว พร้อมชี้ว่าการโจมตีจะทำให้คนในเยเมนเสียชีวิตมากขึ้น
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศจุดปะทุขึ้นหลังนายริยาดห์ ยาสซิน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยเมน ได้เรียกร้องให้ชาติอาหรับเข้ามาจัดการกับกลุ่มกองกำลังฮูตีนิกายชิอะห์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เยเมนตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกว่าเยเมนกำลังเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมือง
กลุ่มฮูตี ซึ่งได้เข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนรวมถึงกรุงซานานั้น ได้ขับไล่ประธานาธิบดีเยเมนซึ่งได้หลบหนีไปยังเมืองอาเดน เมืองท่าทางตอนใต้ของประเทศ
ประเทศเยเมนตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองในปี 2554 เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงได้บีบให้อดีตประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ก้าวลงจากตำแหน่ง ขณะที่การพูดคุยเพื่อความสมานฉันท์ซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึงสามปีนั้น ประสบกับความล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าว แต่กลับทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาหรับและกลุ่มกองกำลังหัวรุนแรงอื่นๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน-ชาติอาหรับ
อิหร่านถูกประเทศนิกายสะหนี่มองว่าเป็นภัยคุกคามมากว่าหลายทศวรรษ เนื่องจากอิหร่านเป็นประเทศนิกายชิอะห์ ขณะที่ชาติอาหรับส่วนใหญ่ถือนิกายสุหนี่
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (EUA) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาติอาหรับ ได้คัดค้านอำนาจอธิปไตยของอิหร่านเหนือเกาะสองเกาะในอ่าวเปอร์เซีย ขณะที่อิหร่านซึ่งขณะนั้นกำลังปะทะกันอย่างดุเดือดกับอิรักมาเป็นเวลาถึงแปดปีในช่วงต้นทศวรรษ 80 มองว่าหมู่เกาะดังกล่าวไม่สามารถแยกจากกันได้
อับเดล วาฮับ นักวิเคราะห์ทางการเมืองชาวอียิปต์ กล่าว "การแบ่งแยกดังกล่าวทำให้ช่องว่างขยายตัวกว้างขึ้น และทำให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นด้วย"
นักวิเคราะห์รายนี้ชี้ว่า อิหร่านมีความทะเยอทะยานในโลกอาหรับอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาติอาหรับต้องรีบหาทางสกัดกั้นแผนของอิหร่านที่มีเป้าหมายจะบั่นทอนการปกครองของอาหรับด้วยการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านนิกายชีอะห์ หรือระบอบที่ยึดมั่นกับนโยบายเช่นระบอบของอิรักและซีเรีย
นายวาฮับ กล่าวว่า "อิหร่านมีบทบาทสำคัญในการสู้รบในอิรัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มสนับสนุนอิหร่านในอิรักได้ออกมาต่อต้านซาอุดิอาระเบียและชาติพันธมิตรอาหรับที่เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมน"
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ซาอุดิอาระเบียและชาติอาหรับหันมาโจมตีกลุ่มฮูตีนั้น นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มกบฎสามารถรุกคืบมายังชายแดนและโจมตีซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งปิดล้อมช่องแคบบับเอลมันเดบในทะเลแดง ซึ่งแต่ละปีนั้นเปิดให้เรือวิ่งเข้าออกกว่าหลายพันลำ
เขาชี้ว่า "อิหร่านมีอำนาจควบคุมเหนือช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอ่าวอาหรับ โดยหากกลุ่มฮูตีสามารถยึดครองช่องแคบบับเอลมันเดบได้แล้ว ก็จะส่งผลให้อ่าวอาหรับถูกปิดล้อม และจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของอิหร่านและพันธมิตรของกลุ่มฮูตี"
"ผมเชื่อว่าโลกอาหรับจะเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวมากขึ้นในการต่อกรกับอิหร่านภายหลังการโจมตีเหล่านี้" เขากล่าว โดยคาดว่าปฏิบัติการโจมตีจะขยายวงกว้างขึ้น หลังอียิปต์ประกาศเตรียมส่งกองกำลังภาคพื้นเพื่อต่อสู้กับกลุ่มฮูตีในเยเมน
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังคาดว่า ปฏิบัติการทางทหารอาจเดินหน้าต่อไปในระยะยาวเพื่อบั่นทอนกำลังทหารของกลุ่มฮูตี พร้อมเสริมว่า ท้ายที่สุดแล้ว การเมืองจะกลายเป็นทางออกในการแก้ปัญหานี้
การโจมตีทางอากาศเมื่อวานนี้และมติของชาติอาหรับเพื่อเปิดปฏิบัติการทางทหารในเยเมนนั้น จะนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรอาหรับ ซึ่งแต่เดิมนั้นนำร่องโดยประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล ซีซี
นายวาฮับ กล่าวว่า "แม้ว่าจะมีชาติอาหรับบางส่วนเช่นอิรักและอัลจีเรีย ออกมาคัดค้านการก่อตั้งกองกำลังพันธมิตรอาหรับเพื่อจัดการกับภัยคุกคาม แต่การโจมตีทางอากาศในวันนี้จะเป็นใบเบิกทางที่ช่วยสนับสนุนความคิดริเริ่มของปธน.ซีซี เนื่องจากทุกคนตระหนักดีว่าปัจจุบันโลกอาหรับต้องการกองกำลังทหารในลักษณะเช่นนี้ เพื่อจัดการกับวิกฤติต่างๆในหมู่ประเทศอาหรับ"
ทั้งนี้ แผนการก่อตั้งกองกำลังพันธมิตรชาติอาหรับเพื่อจัดการกับการก่อการร้าย จะถูกยกให้เป็นวาระของการประชุมสุดยอดผู้นำสันนิบาตอาหรับ (AL) ในวันที่ 28-29 มีนาคม ณ เมืองชาร์ม เอลชีค ของอียิปต์ สำนักข่าวซินหัวรายงาน