Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้กองกำลังร่วมอาหรับช่วยสกัดการแทรกแซงของชาติตะวันตกในตอ.กลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2015 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญชี้การจัดตั้งกองกำลังร่วมอาหรับ จะค่อยๆลดการแทรกแซงของกองทัพสหรัฐและชาติตะวันตกในตะวันออกกลาง

พลเอกอาเดล คัลลา แห่งกองทัพอียิปต์ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้ว กล่าวว่า นอกเหนือไปจากการต่อต้านกลุ่มการร้ายแล้ว กองกำลังชุดนี้จะดูแลเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มประเทศอาหรับ

"นี่คือแรงต้านของอาหรับที่ไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของอาหรับ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำชาติอาหรับในระหว่างการประชุมสุดยอดอาหรับที่ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงจากภายนอก" พลเอกอาเดลกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ด้วยว่า ที่ผ่านมานั้น อาหรับได้ยอมจำนนให้กับนโยบายของสหรัฐและชาติตะวันตกมาเป็นเวลาหลายวิบปีแล้ว เนื่องจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการทหารของประเทศ กองกำลังของอาหรับจึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการเมือง และพลิกแผนของชาติตะวันตกที่ต้องการขยายอิทธิพลของตนเองในภูมิภาค

ผู้นำอาหรับ ซึ่งได้ประชุมร่วมกันที่อียิปต์เมื่อวันที่ 28-29 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นพ้องร่วมกันที่จะจัดตั้งกองกำลังร่วมอาหรับ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงที่มีมากขึ้น

เป้าหมายของกองกำลังดังกล่าว ก็คือ การรับมือกับการคุกคามความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศสมาชิก ตามคำร้องขอของประเทศนั้นๆ

ก่อนหน้าที่จะมีการร้องขอ ซาอุดิอาระเบียได้จัดตั้งกองกำลังร่วมทางทหารอาหรับขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (AL) หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแต่อย่างใด

กองกำลังร่วมดังกล่าวได้โจมตีทางอากาศกลุ่มฮูตีซึ่งยึดพื้นที่ต่างๆในประเทศเยเมน รวมทั้งเมืองซานา ซึ่งเป็นเมืองหลวง และยังรุกเข้าไปยังเมืองเอเดน ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเยเมน และเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของประธานาธิบดีฮาดีที่ต้องหลบหนีมาพักพิง

แนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองกำลังนานาชาติตามที่ประธานาธิบดีอับเดล-ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แห่งอียิปต์ได้ริเริ่มขึ้นมานั้น ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของกลุ่มประเทศอาหรับ

แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ตำรวจชาวอียิปต์ 21 รายถูกกลุ่ม IQ สังหารที่ลิเบียเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2493 ประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านกลาโหมและเศรษฐกิจอาหรับ เพื่อรับมือกับการขยายตัวของอิสราเอล

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงร่วมอาหรับก็ถูกแช่แข็งไว้นับตั้งแต่ที่ได้มีการลงนาม

ช่วงเวลาหลังการแทรกแซงของสหรัฐและชาติตะวันตก

ซาอีด ลาเวนดี นักวิเคราะห์ด้านการเมืองในกรุงไคโรกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า การมหาอำนาจตะวันตกต้องการควบคุมแหล่งน้ำมันของอาหรับและดูแลเรื่องความมั่นคงในอิสราเอลนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับอีกต่อไป

นักวิเคราะห์รายนี้ กล่าวว่า สหรัฐต้องการที่จะเข้ามาแทนที่ชาติตะวันตก อาทิ ฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งได้ครอบครองประเทศอาหรับมาเป็นเวลาหลายสิบปีในช่วงศตวรรษที่แล้ว ในฐานะที่เป็นแกนนำในตะวันออกกลาง

นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น การใช้กำลังเป็นวิธีการหลักของสหรัฐเพื่อเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค

นักวิเคราะห์กล่าวว่า สหรัฐและชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงทั้งด้านการทหารและการเมืองในประเทศอาหรับจำนวนมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อขยายอิทธิพลของตนเองในภูมิภาค

การแทรกแซงครั้งสำคัญครั้งแรกของสหรัฐในตะวันออกกลางเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 ซึ่งกองทัพสหรัฐที่ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารจากอังกฤษ ออสเตรเลีย และโปแลนด์ ได้บุกเข้าไปยังอิรัก และโค่นบัลลังก์ของนายซัดดัม ฮุสเซน

สหรัฐระบุว่า การครอบครองประเทศอาหรับมีเป้าหมายที่จะยุติการครอบครองอาวุธที่มีอำนาจในการทำลายสูงของอิรัก ถอนรากถอนโคนการสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายโดยนายซัดดัม ฮุสเซน รวมทั้งปลดปล่อยชาวอิรักออกจากเผด็จการ

เหตุการณ์วุ่นวายในโลกอาหรับเมื่อปี 2554 นั้น ถือเป็นการเปิดประตูให้กองทัพของชาติตะวันตกเข้ามาในภูมิภาค

นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในภูมิภาคนั้น มีแนวโน้มทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า จะมีการแทรกแซงของสหรัฐและชาติตะวันตกในลิเบียเพื่อจัดการกับนายมูอัมมาร์ กัดดาฟี รวมทั้งกลุ่ม IS ในซีเรียและอิรัก

นายลาเวนดี กล่าวว่า ก่อนหน้าที่กองกำลังทหารจะเข้ามาในลิเบีย อิรัก และซีเรียนั้น สหรัฐและชาติตะวันตกได้ช่วยฝึกอบรมกองทัพและจัดหาอุปกรณ์ให้กับกลุ่มต่อต้านในประเทศเหล่านี้ เพื่อให้สงครามคุกรุ่นในพื้นที่เหล่านี้ต่อไป

การแทรงแซงที่ต่อเนื่องของสหรัฐ

นายลาเวนดีเชื่อว่า บทบาทของกองทัพสหรัฐในภูมิภาคจะไม่จางหายไปเร็วนัก ด้วยเหตุผลหลายประการ หลายประเทศในอาหรับ รวมทั้งอิรักไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกองกำลังร่วมอาหรับ ในขณะที่อิรักนั้นได้รับการช่วยเหลือทางการทหารจากกองกำลังพันธมิตรของอาหรับและชาติตะวันตกเพื่อรับมือกับกลุ่ม IS แม้ว่า กองกำลังของอาหรับจะโจมตีกลุ่ม IS ในอิรัก สหรัฐก็ยังมีบทบาทหลัก เนื่องจากสหรัฐเป็นผู้ริเริ่มก่อสงครามกับกลุ่ม IS

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ชาติตะวันตกจะยังคงนโยบายต่อต้านกลุ่ม IS ต่อไปในซีเรีย ในขณะที่ประเทศอาหรับดูเหมือนว่า จะลังเลที่จะมีบทบาททางการทหารในประเทศอาหรับที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัสเซียและอิหร่าน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สงครามเหล่านี้ก็จะสิ้นสุดลง บทบาทของชาติตะวันตกและสหรัฐในปัจจุบันก็จะค่อยๆจางหายไป เพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีบทบาททางการทหารในเหตุการณ์ขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากประเทศอาหรับไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ

บทวิเคราะห์โดยอาเหม็ด ชาฟิค รายงานโดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ