นายซาเดค ซิบากาลัม ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเตหะราน กล่าวว่า "ผมค่อนข้างแน่ใจว่าวันนี้ หรือไม่ก็วันพรุ่งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะจับมือกัน และเห็นพ้องเรื่องข้อตกลงในภาพรวม ขณะที่ยังเหลือประเด็นค้างคาบางประการสำหรับการเจรจาในอนาคต"
ความถี่ ความจริงจังและการเข้มข้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของการเจรจา ได้จุดไฟแห่งความหวังของชาวอิหร่านขึ้นมาอีกครั้ง เกี่ยวกับความสำเร็จของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์
คณะผู้เจรจาระดับสูง อาทิ นายโมฮัมหมัด จาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่าน และนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้ประชุมกันหลายครั้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และประกาศว่าการเจรจามีความคืบหน้าที่สำคัญ
นายซิบากาลัมกล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวสร้างความหวังอย่างมากในอิหร่านและประชาคมระหว่างประเทศ และคงจะเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับอิหร่านและชาติตะวันตก หากเดินออกจากโต๊ะเจรจามือเปล่า
นอกจากนี้ ชาวอิหร่านต่างตั้งตารอการเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตร และการช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่กะปลกกะเปลี้ย ความล้มเหลวในการเจรจาจะทำลายความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประชาชนอย่างมหันต์
"ทุกคนกำลังคาเหวังว่าสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้น ถ้าคุณถามพวกเขา ไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่มันเป็นอารมณ์ทั่วๆ ไปว่าหลายอย่างจะดีขึ้น" นายซิบากาลัมกล่าว
อย่างไรก็ดี อาจมีความเป็นไปได้น้อยที่ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงกรอบการดำเนินงาน เนื่องจากอิหร่านปฏิเสธแนวคิดข้อตกลง 2 ขั้น (two-stage agreement) อย่างเปิดเผย
"การคัดค้านข้อตกลง 2 ขั้น คือฉันทามติจากสถาบันทางการเมืองของอิหร่านทั้งหมด" นายโมฮัมหมัด มารานดี คณบดีคณะรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเตหะรานกล่าว
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่การเจรจาซึ่งกำลังดำเนินอยู่ จะมีการตกลงกันในบางส่วนว่าด้วยกรอบการดำเนินงานของข้อตกลงขั้นสุดท้าย แต่ไม่มีแนวโน้มว่าจะเป็นการตกลงอย่างเป็นทางการ
นายมารานดีกล่าวว่า หลังการลงนามในข้อตกลงที่ยังไม่สมบูรณ์ จะไม่มีกลไกใดที่สร้างความมั่นใจได้ว่า สหรัฐและพันธมิตรจะยังคงเจรจากับอิหร่านต่อเพื่อคลี่คลายประเด็นนิวเคลียร์อย่างแท้จริง โดยเขากล่าวเสริมว่า อิหร่านได้รับบทเรียนจากการเจรจาระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลว่า ข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาและสันติภาพ
สหรัฐได้เรียกร้องให้อิหร่านลงนามข้อตกลงกรอบการดำเนินงานทางการเมืองภายในสิ้นเดือนมี.ค. ก่อนที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมขั้นสุดท้ายภายในวันที่ 30 มิ.ย.
นายมารานดีปฏิเสธการคาดการณ์ที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆในภูมิภาคระหว่างการเจรจานิวเคลียร์ เนื่องจากอิทธิพลของอิหร่านขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นในประเทศที่ประสบวิกฤตอย่างเยเมน อิรักและซีเรีย
อิหร่านไม่ต้องการนำประเด็นระดับภูมิภาคเข้าสู่การเจรจา เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงแค่การทำให้สิ่งต่างๆมีความซับซ้อนขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อมหาอำนาจตะวันตก
ในช่วงต้นเดือนนี้ นายคาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เตือนว่าการเจรจาควรเน้นที่ประเด็นนิวเคลียร์เท่านั้น โดยกล่าวว่า อิหร่านไม่ต้องการหารือประเด็นในภูมิภาคร่วมกับสหรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายตรงข้ามกับอิหร่าน
นายซิบากาลัมกล่าวว่า แม้ว่าคณะผู้เจรจาไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคอย่างเป็นทางการ แต่เห็นได้ชัดว่าสหรัฐและอิหร่านมีศัตรูร่วมกันในภูมิภาค อย่างเช่น กลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และกลุ่มอัลกออิดะห์
เขากล่าวว่า แนวคิดเรื่องศัตรูร่วมกัน นับเป็นความคืบหน้าครั้งใหม่ที่สามารถเพิ่มโอกาสในการคลี่คลายประเด็นนิวเคลียร์