เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กองกำลังทหารอิรัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนิกายชีอะห์ สามารถยึดคืนเมืองทิกริต ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรักได้ นับเป็นการปูทางไปสู่การผลักดันกลุ่มหัวรุนแรงออกจากเมืองโมซูล ที่เป็นเมืองเอกของจังหวัดนิเนเวห์
นักวิเคราะห์เชื่อว่า การล่าถอยของกลุ่ม IS ในอิรัก จะเป็นผลดีต่อชาวอิรัก แต่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากยิ่งขึ้นต่อซีเรีย เนื่องจากกลุ่ม IS ได้มีอิทธิพลมากขึ้นในซีเรีย ซึ่งเป็นฟื้นที่ที่ IS ไม่ได้ปราชัยเหมือนในอิรัก มีแต่จะรุกคืบมากขึ้น
ขณะที่กลุ่ม IS ในอิรักต้องเสียท่าให้กับกลุ่มกองกำลังร่วมที่เมืองทิกริต แต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กลุ่ม IS สามารถโจมตีและยึดค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่สำคัญได้เกือบ 70% ซึ่งค่ายดังกล่าวตั้งอยู่ทางตอนของกรุงดามัสกัส
นายเมเฮอร์ เมอร์เฮจ หัวหน้าพรรคซีเรียน ยูธ พาร์ตี กล่าวว่า "แน่นอนว่าการที่กลุ่ม IS ในอิรักต้องล่าถอยไปเป็นเรื่องดีในแง่ของการทำให้กลุ่มก่อการร้ายอ่อนกำลังลง และยังเป็นการตัดเส้นทางสร้างรายได้จากการใช้น้ำมันของอิรัก แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชาวซีเรียก็จะเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นตามมา"
นายเมอร์เฮจ กล่าวด้วยว่า "กลุ่มหัวรุนแรงชาวอิรักจำนวนหลายพันคนที่ร่วมกับ IS จะหลบหนีไปยังซีเรีย เมื่อเริ่มเผชิญความพ่ายแพ้มากขึ้นในอิรัก"
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกรายอย่างนายมาห์มูร์ มูรี กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "มีการตัดสินใจในระดับภูมิภาคและระดับสากลอย่างชัดเจนที่จะปราบปรามกลุ่ม IS ในอิรัก แต่ไม่มีการตัดสินใจลักษณะดังกล่าวในซีเรีย"
นายเมอร์เฮจกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังพันธมิตรในการโจมตีกลุ่ม IS ในอิรักและซีเรีย กำลังร่วมมือและประสานงานเรื่องการโจมตีกับกองทหารของอิรัก แต่สหรัฐก็ไม่ได้ทำในรูปเดียวกันนี้กับกองทัพซีเรีย
กองกำลังพันธมิตรในการต่อต้านก่อการร้ายภายใต้การนำของสหรัฐ ได้โจมตีฐานที่มั่นของกลุ่ม IS หลายแห่งทางตอนเหนือและตะวันออกของซีเรียมาตั้งแต่ปลายปี่ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การโจมตีดังกล่าวแทบไม่สามารถสกัดอิทธิพลของ IS ได้
นายโอซามา ดานูรา นักวิเคราะห์ด้านการเมืองกล่าวกับซินหัวว่า การล่าถอยของกลุ่ม IS ในเมืองทิกริตถือเป็นชัยชนะของกองทัพอิรัก และยังเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่ม IS ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างแท้จริงจากประชาชน อย่างไรก็ดี ซีเรียและอิรักต่างอยู่ในแนวหน้าเหมือนกันในการสู้รบกับกลุ่ม IS ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
นักวิเคราะห์กล่าวต่อไปว่า "เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูความมั่นคงในอิรักได้โดยปราศจากการฟื้นฟูความมั่นคงในซีเรีย หากกลุ่ม IS ยังคงมีอิทธิพลในซีเรีย สถานการณ์ในอิรักก็คงจะวุ่นวายและมีปัญหา เพราะแนวรบแนวหน้าในทั้ง 2 ประเทศได้กลายเป็นแนวรบเดียวกันแล้วในขณะนี้"
นักวิเคราะห์กล่าวย้ำว่า การที่จะทำให้กลุ่ม IS ใน 2 ประเทศอ่อนกำลังลง ควรมีการประสานงานกันในระดับสูงระหว่างทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว รวมทั้งการประสานงานด้านการทหารระหว่างกองทัพอิรักและซีเรีย
การเดินทางเยือนซีเรียเมื่อเดือนที่แล้วของนายอิบราฮิม อัล-จาฟารี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิรัก "ทำให้เกิดการประสานงานในลักษณะดังกล่าว และเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ในช่วงต่อไป"
นายดานูรากล่าวด้วยว่า การต่อสู้กับกลุ่ม IS ไม่สามารถทำได้ในพื้นที่เพียงพื้นที่เดียว เพราะกลุ่ม IS มีทั้งนักรบที่เป็นชาวอิรักและชาวซีเรีย และนักรบเหล่านี้ก็จะต้องการเปิดแนวรบในพื้นที่ของตนเองอีกครั้ง กลุ่ม IS ไม่ได้คำนึงถึงพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ เพราะมีสาขาของกลุ่มในดินแดนต่างๆ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงสามารถคุกคามเข้าไปยังประเทศใดหรือบริเวณชายแดนใดๆก็ได้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า "หากกองกำลังระหว่างประเทศในการต่อต้านก่อการร้ายมีเป้าหมายที่จะทำให้กลุ่ม IS อ่อนกำลังลงในอิรัก ไม่ใช่ในซีเรีย ก็อาจจะเป็นการผลักดันให้บรรดานักรบกลุ่มนี้ขยายอิทธิพลไม่เพียงแต่ในซีเรีย แต่ยังแผ่อิทธิพลไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคด้วย"
กลุ่ม IS อาจจะข้ามพรมแดนต่างและก่อภัยคุกคามชุมชนต่างๆในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มอัลกออิดะห์ได้ประกาศจัดตั้งกลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก (ISI) ขึ้นมาเมื่อปี 2549
เมื่อต้นปี 2556 กลุ่ม ISI ได้เข้ามายังซีเรียและมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด และต่อมาก็ได้ประกาศรวมตัวกับกลุ่มเครือข่ายอัลกออิดะห์ในซีเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ อัลนุสรา ฟรอนท์ ภายใต้ชื่อใหม่ในปัจจุบันว่ากลุ่มรัฐอิสลามของอิรักและซีเรีย (ISIS)
เมื่อเดือนก.พ. 2557 กลุ่มอัลกออิดะห์ระบุว่า ทางกลุ่มได้ตัดการเชื่อมโยงกับกลุ่ม ISIS ภายใต้การนำของนายอาบู บาคร์ อัล-บัคห์ดาดี และเมื่อเดือนมิ.ย. 2557 กลุ่ม ISIS ซึ่งได้ยึดพื้นเป็นวงกว้างในซีเรียและอิรัก ได้ประกาศตั้งกฎของกลุ่มอิสลาม และเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น IS สำนักข่าวซินหัวรายงาน