ธนาคารกลางจีนระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะ "กระตุ้นการปรับโครงสร้าง" พร้อมกับกล่าวว่า จะปรับลดอัตราส่วน RRR สำหรับธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดเล็ก ภาคการเกษตร และโครงการน้ำขนาดใหญ่
ธนาคารอากริคัลเจอรัล ดีเวลลอปเมนท์ แบงก์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นธนาคารที่อยู่ภายใต้นโยบายสนับสนุนภาคเกษตร ได้รับการปรับลดสัดส่วน RRR ลง 2%
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราส่วน RRR ลง 0.5% สำหรับธนาคารของรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์ร่วมทุน (joint-equity commercial banks) ที่ดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางในด้านการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคการเกษตร หรือบริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อม
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ที่ธนาคารกลางประกาศลดอัตราส่วน RRR ควบคู่ไปกับการปรับลด RRR แบบกำหนดเป้าหมาย หลังจากที่ธนาคารกลางได้ดำเนินการดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
หลังจากที่มีการปรับลดอัตราส่วน RRR ครั้งล่าสุดแล้ว ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่จะต้องมีสัดส่วนการกันสำรอง 18.5% ของเงินฝากในทุนสำรอง ซึ่งจากการประมาณการโดยสถาบันของจีนบางแห่งพบว่า การปรับลด RRR จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจีนสูงถึง 1.3 ล้านล้านหยวน (2.122 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การปรับลดอัตราส่วน RRR เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากเศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างเชื่องช้าในไตรมาสแรกปีนี้
นายซู ฮองไค ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์กลางเพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนกล่าวว่า การปรับลด RRR ของธนาคารกลางจีนในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการใน "ช่วงเวลาที่เหมาะสม"
ทั้งนี้ การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ชะลอลงสู่ระดับ 7% ในไตรมาสแรกปีนี้ จากระดับ 7.3% ในไตรมาส 4 ปี 2557 โดย GDP ไตรมาสแรกขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 6 ปี และยังสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่า GDP ไตรมาสแรกของจีนขยายตัวอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 7% สำหรับปี 2558 แต่การที่หลายภาคส่วนของจีนชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกนั้น ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล
ยอดส่งออก ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของจีนมาอย่างยาวนานนั้น หดตัวลง 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนมี.ค.
นายหลู เล่ย ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยของธนาคารกลางจีนคาดการณ์ว่า ต้นทุนการระดมเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการจะปรับตัวลง เนื่องจากการปรับลด RRR จะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีกระแสเงินสดต้นทุนต่ำเพิ่มขึ้น
ข้อมูลชิงสถิติแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการระดมเงินทุนของผู้ประกอบการ ณ สิ้นเดือนมี.ค. อยู่ที่ 6.83% ลดลง 0.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.12% จากช่วงสิ้นปีที่แล้ว
นอกจากนี้ นายหลูคาดการณ์ว่า จีนจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบรัดกุมต่อไป โดยจะพุ่งเป้าไปที่การปรับนโยบายให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจเป็นหลัก รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างนโยบายคุมเข้มทางการเงินและผ่อนคลายทางการเงิน
ขณะที่นายซูคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเริ่มมีเสถียรภาพในไตรมาส 2 และจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาส 3 เมื่อพิจารณาจากมาตรการต่างๆที่จีนนำมาใช้ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และ RRR รวมทั้งนโยบายกระตุ้นการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย สำนักข่าวซินหัวรายงาน