ดัชนี CPI เดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.4% ในเดือนมี.ค. และ 0.8% ในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่ง ร่วงลง 4.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันยาวนานถึง 38 เดือน บ่งชี้ว่าอุปสงค์ในตลาดของจีนยังคงอ่อนแอฃ
ข้อมูลเงินเฟ้อของจีนล่าสุดส่งผลให้เมื่อวานนี้ ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีก 0.25% โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 พ.ค.
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลง 0.25% สู่ระดับ 5.1% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 ที่ธนาคารกลางตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายหวัง เตา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากธนาคารยูบีเอสกล่าวว่า ราคาผู้ผลิตที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วนั้น สะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแรงลง และงบดุลของภาคเอกชนย่ำแย่ลง
ขณะที่นายฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเอชเอสบีซีกล่าวว่า ทั้งดัชนี CPI และ PPI ต่างก็ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า CPI จะขยายตัว 1.6% และ PPI จะลดลง 4.5% ซึ่งบ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านเงินฝืดยังไม่บรรเทาลง
นายเซี๊ยะ หยาซวน หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจมหภาคจากซีเอ็มเอส ซิเคียวริตีส์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ราว 1.2% ในเดือนพ.ค. และหลังจากนั้นจะดีดตัวขึ้น พร้อมกับคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2558 นั้น ดัชนี CPI จะขยายตัว 1.5%
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัว 7% ในไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ตลอดปี 2558
ขณะที่นายหวัง นักวิเคราะห์จากยูบีเอส คาดว่า "จีนอาจจะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากการขยายตัวของ GDP อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายในปีนี้"
ด้านนายหลิว ซือจี นักวิจัยจากแบงก์ ออฟ คอมมูนิเคชันส์กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแรงลงจะเปิดทางให้จีนใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยหนุนราคาให้ปรับตัวขึ้นโดยรวม
ทั้งนี้ นายหวังคาดว่า ธนาคารกลางจีนอาจจะปรับลดสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกอย่างน้อย 1% ภายในปีนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน