China Focus: นักเศรษฐศาสตร์ชี้การปรับขึ้นค่าแรงช่วยหนุนศักยภาพการผลิตในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2015 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แม้ว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างนั้นอาจลดข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของผลิตภัณฑ์จีน แต่นักเศรษฐศาสตร์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าจะช่วยหนุนศักยภาพการผลิตในอนาคต

การปรับเพิ่มค่าจ้างและขาดแคลนแรงงานนั้นปรากฎให้เห็นในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (Pearl River Delta) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการค้าระหว่างประเทศ

ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ได้ทำการสำรวจผู้ผลิตเกือบ 300 รายเมื่อเดือนก.พ.และมี.ค.ที่ผ่านมา พบว่า 85% ของผู้ตอบรับการสำรวจมองว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าค่าจ้างจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 8.4% ในปีนี้

อัตราผลกำไรที่ลดลง ปัญหาด้านการระดมทุน ความไม่แน่นอนของคำสั่งซื้อในอนาคต ประกอบกับความผันผวนของเงินหยวน นับว่าเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของบริษัทเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดมองว่าภาคการผลิตนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี: "ปัญหาด้านแรงงานและความท้าทายอื่นๆอาจกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นศักยภาพการผลิต ขณะที่จีนยกระดับห่วงโซ่การผลิต"

ด้านสหพันธ์วิทยาการหุ่นยนต์สากล (IFR) คาดการณ์ว่า จีนจะมีหุ่นยนต์ทำงานในโรงงานผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆภายในปี 2560 ซึ่งเริ่มพบผลลัพธ์ในทางที่ดีแล้ว โดย 67% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจเผยว่า ผลิตภาพที่ได้รับนั้นเหนือกว่าการปรับเพิ่มค่าจ้าง

นอกจากนี้ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย

ขณะที่ผู้ผลิตชาวจีนหันไปให้ความสนใจในด้านเทคโนโลยี แผนแม่บท "Made in China 2025" ที่เพิ่งได้รับการเปิดตัวนั้นได้กระตุ้นให้ผู้ผลิตชาวจีนเน้นการลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร รางรถไฟความเร็วสูง ไปจนถึงอวกาศและอุปกรณ์โทรคมนาคม

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดเผยว่า การขับเคลื่อนสู่ภาคการผลิตที่ซับซ้อนกว่าเดิมนั้นบ่งชี้ว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่วนการเคลื่อนตัวออกของภาคการผลิตระดับล่างไม่น่าวิตกมากนัก

รายงานดังกล่าวระบุว่า "ปัญหาระยะสั้นในพื้นที่ปากแม่น้ำเพิร์ล จะปูทางสู่ความรุ่งเรืองระยะยาวในจีน" สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ