Analysis: การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียยังมีแนวโน้มซบเซาใน H2/2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 16, 2015 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ และอุปสงค์ภายในประเทศของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียอยู่ในภาวะอ่อนแอนั้น บรรดานักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจของเอเชียไม่มีแนวโน้มจะขยายตัวแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2558

ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้หนุนกระแสคาดการณ์ที่ว่าการผ่อนคลายทางการเงินกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง

ตลาดสินทรัพย์ในหลายประเทศของเอเชียในขณะนี้ กำลังมีความวิตกเพิ่มมากขึ้น จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายของเฟด

แม้ว่ามีสภาพคล่องจำนวนมากและต้นทุนการกู้ยืมอยู่ที่ระดับต่ำ แต่แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในภูมิภาคยังคงอ่อนแอจนถึงขณะนี้ ภาวะอ่อนแรงทางเศรษฐกิจบางส่วนเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ อันเนื่องมาจากการร่วงลงอย่างหนักของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ประเทศเอเชียส่วนใหญ่ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ รถยนต์และวัตถุดิบด้านการผลิต ก็เผชิญกับอุปสงค์ที่ซบเซาต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาข้อมูลการส่งออกของประเทศในเอเชียในเดือนม.ค.-มี.ค. แทบไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว โดยการส่งออกได้ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2

Deutsche Bank Research ระบุว่า แม้ว่าอุปสงค์ในสหรัฐและสหภาพยุโรปปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก็อาจจะส่งผลต่อการส่งออกของภูมิภาคเอเชียไม่มากนัก เนื่องจาก Deutsche Bank เชื่อว่าการอ่อนแอด้านการส่งออกอาจจะเป็นผลมาจากการขาดอำนาจในการกำหนดราคาของกลุ่มผู้ส่งออกเอเชีย ซึ่งจะเห็นได้จากเงินเฟ้อที่อ่อนแรง

Nomura Equity Research เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ส่งออกของเอเชียมีการพึ่งพาอุปสงค์ในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงจีน และอุปสงค์ของตลาดเกิดใหม่โดยรวมอยู่ในภาวะอ่อนแอ

HSBC Global Research อธิบายว่า การขยายตัวทั่วภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ส่วนใหญ่ได้รับการผลักดันจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน

HSBC ชี้ว่าภาระหนี้สินที่ระดับสูงได้ก่อให้เกิดปัญหา 3 ประการสำหรับเศรษฐกิจเอเชีย ประการแรกคือ สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีไม่สามารถเพิ่มขึ้นตลอดไป, ประการที่สอง เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การขยายตัวและเสถียรภาพทางการเงินอาจจะได้รับผลกระทบ ส่วนประการที่สามและมีความสำคัญที่สุด ก็คือ ระดับสินเชื่อเพื่อหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าการที่จะคงอัตราการขยายตัวของช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเอาไว้นั้น จะต้องมีการปล่อยสินเชื่อในอัตราที่รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

HSBC เรียกร้องให้ประเทศในเอเชียดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อหนุนการขยายตัวของศักยภาพการผลิตและลดการพึ่งพาหนี้

หากประเทศเกิดใหม่ในเอเชียไม่ดำเนินการปฏิรูป หนี้สินก็จะยังคงมีความสำคัญมากขึ้นในการหนุนอุปสงค์ และนี่ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืนในการปรับปรุงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ