หลังการเจรจาที่ดำเนินมายาวนาน อิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็ได้บรรลุข้อตกลงที่กรุงเวียนนาเมื่อวานนี้ ในการที่จะจำกัดศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศต่ออิหร่าน อันเป็นผลมาจากแผนการนิวเคลียร์
“ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านจะเปลี่ยนแปลงแผนที่ทางการเมืองอย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ยังรวมถึงในกลุ่มพันธมิตรต่างๆทั่วโลกด้วย" นายโมฮาเหม็ด โมห์เซน อับเดล-นูร์ นักวิจัยด้านกิจการอิหร่านประจำมหาวิทยาลัยอัล-อาซาร์ในกรุงไคโร กล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคดังกล่าวอาจต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศตามความคืบหน้าใหม่ๆที่เกิดขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับซินหัวว่า ความคืบหน้าใหม่ๆดังกล่าวรวมถึง ความเสียหายที่อาจจะกระทบเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่าน้ำมันของอิหร่านจะหลั่งไหลสู่ตลาดหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร
กระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ได้แสดงความหวังเมื่อวานนี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ภูมิภาคตะวันออกกลางมีความมั่นคงและเสถียรภาพ, ยุติการแข่งขันด้านยุทโธปกรณ์ในภูมิภาค และทำให้ตะวันออกกลางปลอดจากอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง ซึ่งรวมถึง อาวุธนิวเคลียร์
“สำหรับอียิปต์ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันที่เผชิญปัญหาขาดดุลงบประมาณนั้น ข้อตกลงนี้อาจจะเป็นประโยชน์ด้วย" นายอับเดล-นูร์กล่าว โดยคาดว่าน้ำมันของอิหร่านที่หลั่งไหลสู่ตลาดหลังการทำข้อตกลงจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่การบรรลุข้อตกลงที่รอคอยกันมาเป็นเวลานานได้รับเสียงชื่นชมจากอิหร่านและสหรัฐว่าเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์นั้น นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล กลับระบุว่าเป็น “ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์"
“ข้อตกลงดังกล่าวเป็นความคืบหน้าอีกก้าวหนึ่งอย่างแน่นอน" นายซาอีด อัล-ลาวินดี นักวิเคราะห์ด้านการเมืองว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากศูนย์การศึกษาทางการเมืองและยุทธศาสตร์อัล-อาห์รามในไคโรกล่าว โดยระบุว่าหลังช่วงเวลา 12 ปีของการเจรจา ชาติตะวันตกพบว่าข้อตกลงกับอิหร่านจะเป็นผลดี หากศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านจะถูกจำกัดไว้เพื่อใช้ในเชิงสันติ
“อิสราเอลวิตกกับข้อตกลงดังกล่าว เพราะอิสราเอลต้องการที่จะเป็นเพียงประเทศเดียวในตะวันออกลางที่ครอบครองนิวเคลียร์" นายลาวินดีกล่าว โดยเสริมว่าอิสราเอลคัดค้านข้อตกลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมองว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคอย่างถาวร
กลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มความร่วมมือรอบอ่าวอาหรับ (GCC) ต่างกังขาอิหร่านและความทะเยอทะยานในระดับภูมิภาคของอิหร่าน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ต้องการข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์รายนี้แนะว่า กลุ่มประเทศอาหรับควรมองว่าอิหร่านเป็นประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งแก่ภูมิภาค หากอิหร่านมีศักยภาพด้านนิวเคลียร์
“ชาติตะวันตกต้องการให้ยังคงมีความตึงเครียดระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับและอิหร่าน เพื่อที่ชาติอาหรับจะต่อต้านอิหร่าน แทนสหรัฐและอิสราเอล"
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นผลดีแก่อิหร่านอย่างยิ่ง และนั่นคือเหตุผลที่ข่าวการบรรลุข้อตกลงได้รับการขานรับอย่างยิ่งจากชาวอิหร่าน ซึ่งมีความปลาบปลื้มอย่างมากกับข้อตกลงฉบับนี้
“อิหร่านเรียกร้องมาตลอดในระหว่างการเจรจาให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ‘ทันที’ หลังบรรลุข้อตกลง แต่สหรัฐต้องการให้ยกเลิก ‘อย่างค่อยเป็นค่อยไป’ นี่คือเหตุผลที่ข้อตกลงนี้เป็นชัยชนะสำหรับอิหร่าน และผมเชื่อว่าเป็นผลดีสำหรับทุกประเทศอาหรับและมุสลิมโดยทั่วไป" นายลาวินดีกล่าว
นายโมฮาเหม็ด เอลบาราเด อดีตรองประธานาธิบดีอียิปต์และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ได้แสดงความชื่นชมข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดช่วงหลายทศวรรษแห่งความเป็นปฏิปักษ์ ความกระหายสงครามและความเดือดร้อนของประชาชนในตะวันออกกลาง
บทวิเคราะห์โดย มาห์มุด โฟลี, มาร์วา เยเฮีย จากสำนักข่าวซินหัว