ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่ออกมาแข็งแกร่ง ซึ่งได้หนุนคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุดเดือนหน้านี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 5.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2008
เอชเอสบีซี โกลบอล รีเสิร์ชระบุว่า แม้ตลาดหุ้นต่างๆในเอเชียได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวอย่างในอดีตที่บ่งชี้ถึงผลกระทบหลังเฟดปรับเพิ่มดอกเบี้ย ส่วนตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดสำหรับตลาดหุ้นเอเชียน่าจะเมื่อช่วงปี 2547 ซึ่งตลาดร่วงลงในปีนั้น
อย่างไรก็ตาม เอชเอสบีซีย้ำว่า ไม่ควรมองในเรื่องของกำหนดเวลาของเฟดอย่างเดียว แต่ควรมองถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้นด้วย โดยหากเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็น่าจะส่งผลกระทบด้านลบอย่างหนักต่อตลาดหุ้นเอเชีย
ด้านโนมูระ โกลบอล มาร์เก็ตส์ รีเสิร์ช คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นเอเชียจะยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไปแม้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยปัจจุบัน การปรับเพิ่มดอกเบี้ยของเฟดเป็นเหตุการณ์ด้านนโยบายการเงินที่ถูกจับตามองมากที่สุดในโลก
โนมูระยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างปัจจุบัน กับการประกาศยุติโครงการรับซื้อพันธบัตรของเฟดเมื่อสองปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ โนมูระเชื่อว่า มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอยู่บ้าง
ทั้งนี้ โนมูระคาดว่า โครงการซื้อพันธบัตรขนานใหญ่ของ ECB และ BOJ น่าจะเอื้ออำนวยต่อตลาดหุ้นเอเชีย โดยดำเนินบทบาทแทนนโยบายการเงินของสหรัฐในการเสริมสภาพคล่องภายในภูมิภาค
โนมูระคาดการณ์ว่าเมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ ก็จะเกิดการเทขายพันธบัตร ขณะที่ตลาดหุ้นก็จะเกิดการถอยกลับในช่วงแรกๆท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความโกลาหลในตลาดพันธบัตรที่เกิดขึ้นชั่วขณะ
แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาเป็นปกติ ตลาดหุ้นก็จะดีดตัวขึ้น เนื่องจากได้รับสภาพคล่องที่ไหลออกมาจากตลาดพันธบัตร
บทวิเคราะห์โดย Tan Shih Ming จากสำนักข่าวซินหัว