บรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างเห็นพ้องเรื่องการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ส่งเสริมการค้าและการลงทุน กระตุ้นการจ้างงานและเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้มาก
ทั้งนี้ แถลงการณ์ที่เปิดเผยหลังสิ้นสุดการประชุมระยะเวลา 2 วันที่เมืองอันทาเลีย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี ระบุว่า ผู้นำ G20 ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ไม่สดใสนัก
แถลงการณ์ระบุว่า "การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่คงที่ และต่ำกว่าคาดการณ์ของเรา แม้ว่าแนวโน้มของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศจะเป็นไปในด้านบวกก็ตาม แต่ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในตลาดการเงินยังคงมีอยู่ และความท้าทายในระดับภูมิศาสตร์การเมืองกำลังกลายเป็นความวิตกกังวลในระดับโลกมากยิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ดี ผู้นำ G20 ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่ม G20 ขึ้นเป็น 2% ในปี 2561 ตามที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้ในการประชุมสุดยอด G20 ครั้งที่แล้วที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย
นายหวัง เส้าหลง ทูตพิเศษด้าน G20 ของกระทรวงต่างประเทศจีน เปิดเผยว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในช่วงซบเซา แต่ประชาชนตั้งความหวังไว้สูงกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ
นายหวังกล่าวว่า "การประชุมสุดยอดได้ส่งสาส์นที่ชัดเจน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหาบางประการอยู่ก็ตาม แต่เราก็ยังคงเชื่อมั่นในคาดการณ์การขยายตัวในระยะกลางและระยะยาว"
นอกจากนี้ การประชุมผู้นำ G20 ประจำปียังแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรในบรรดากลุ่มประเทศ G20 ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งในขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังไม่สู้ดีนัก นายหวังเสริมว่า ผู้นำ G20 ยังเห็นพ้องเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมในการกระตุ้นการขยายตัว
ทูตพิเศษจากจีนคาดการณ์ว่า ทั้งหมดนี้จะช่วยบรรลุเป้าหมายการขยายตัวที่สมดุลและยั่งยืนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนประเด็นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น ผู้นำ G20 ให้คำมั่นว่าจะ "ใช้นโยบายระดับเศรษฐกิจมหภาคในรูปแบบที่เป็นการประสานงานร่วมกัน" เพื่อบรรลุเป้าหมายการขยายตัวที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะเวลาอันใกล้นี้ สร้างความตื่นตระหนกในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินของประเทศดังกล่าวร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ด้านนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสภายุโรปเปิดเผยในแถลงการณ์ว่า "G20 จำเป็นต้องใช้แนวทางร่วมกันอย่างต่อเนื่องในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการฟื้นตัว เพิ่มศักยภาพการขยายตัว และยกระดับความยืดหยุ่นทางการเงิน"
แถลงการณ์ยังระบุว่า ประเทศ G20 ได้ยกระดับกลยุทธ์ด้านการลงทุนเฉพาะประเทศ เพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
รายงานได้อ้างการวิเคราะห์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ว่า กลยุทธ์ต่างๆ จะช่วยเพิ่มปริมาณการลงทุนโดยรวมของกลุ่ม G20 ในสัดส่วนจีดีพีได้ประมาณ 1% ในปี 2561
บรรดาผู้นำ G20 ยังให้คำมั่นว่า จะทำงานร่วมกันเพื่อทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการค้าโลกที่ไนโรบีประสบความสำเร็จ และเรียกร้องให้มีการให้สัตยาบรรณและปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement: TFA)
นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำ G20 ได้เห็นพ้องกันในการเดินหน้าต่อสู้กับการทุจริตและปิดช่องโหว่เรื่องภาษี ที่บริษัทข้ามชาติใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มความยืดหยุ่นของสถาบันทางการเงิน สำนักข่าวซินหัวรายงาน