"จากการประเมินของเลขาธิการอาเซียน การเตรียมการด้านนโยบายดังที่ได้บรรลุตามข้อตกลงร่วมกันโดยสมบูรณ์ในการผสานการดำเนินงานของรัฐบาลประเทศสมาชิกนั้น ถือว่ามีความเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ดี บริษัทจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่ายังเตรียมพร้อมรับ AEC ได้ไม่ดีนัก" นายทราน ดินห์ แลม ผู้อำนวยการศูนย์เวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในนครโฮจิมินห์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว
นายแลมกล่าวว่า การวิจัยที่จัดทำโดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ว่าด้วยความตระหนักรู้ของบริษัทเวียดนามเกี่ยวกับ AEC ระบุว่า 63% ของบริษัทดังกล่าวมองว่า AEC จะมีผลต่อธุรกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามยังหยิบยกประเด็นความแตกต่างในด้านศาสนา วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ความไม่สมดุลของแต่ละประเทศ รวมถึงความไม่สอดคล้องกันในการประเมินเหตุพิพาทในทะเลจีนใต้ ว่าเป็นอุปสรรคในการสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
การเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาคมอาเซียน ในการแสวงหาทางแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและทางการเมืองอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นทางทะเลเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ในขณะนี้
นายแลมเสริมว่า เนื่องจากเกมเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ ต้องการความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมองข้ามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่าประเทศที่อ่อนแรงกว่าอาจตกอยู่ภายใต้การควบคุมของประเทศที่แข็งแกร่งกว่า
นอกจากนี้ นายแลมยังแนะนำว่ากลไลกำกับการบริหารจัดการกลุ่มประเทศอาเซียน ควรมีความเฉพาะเจาะจงและได้รับการดูแลโดยนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและผ่านการคัดเลือกมาอย่างเข้มข้น
ทั้งนี้ แนวคิดริเริ่มโครงการพื้นที่และเส้นทางเศรษฐกิจของจีน (Belt and Road Initiative ) อาจช่วยสนับสนุนความรุ่งโรจน์ร่วมกันของอาเซียนด้วยเช่นกัน
นักวิชาการเวียดนามเน้นย้ำว่า การก่อตั้งประชาคมอาเซียนและ AEC ขึ้นโดยเฉพาะนั้น จะเป็นเป้าหมายสำคัญในการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค ซึ่งมีประชากรทั้งหมด 625 ล้านคนและจีดีพีประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
บทวิเคราะห์โดย เตา จุน, ไก นัม จากสำนักข่าวซินหัว