นางหวง เส้าหลี่ จากเมืองเหอเฟย จังหวัดอันฮุย รู้สึกตื่นเต้นเมื่อรับทราบเกี่ยวกับนโยบายลูกคนที่สองในเดือนต.ค. การมีลูกนำความสุขมาให้เธอและสามี ทั้งคู่จึงกระตือรือร้นอยากมีลูกอีกหนึ่งคน แต่ความรู้สึกดังกล่าวสลายไปอย่างรวดเร็วขณะที่พยายามหาโรงเรียนอนุบาลให้ลูกคนแรก เนื่องจาก "โรงเรียนอนุบาลของรัฐบาลอยู่ไกลมาก ส่วนโรงเรียนเอกชนดีๆ ก็แพงเกินไป และที่อื่นๆ ก็ต่ำกว่ามาตรฐาน"
ระบบบริการสาธารณะของจีนนั้นพัฒนาไปอย่างล้าหลัง ตามนโยบายลูกคนเดียวที่เข้มงวด
ทั้งนี้ อัตราการเกิดรายปีเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน นับตั้งแต่คู่สามีภรรยาที่ไม่มีพี่น้องได้รับอนุญาตให้มีลูกคนที่สองได้ในปี 2556
ขณะนี้ คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้ 2 คน และคาดว่าอัตราการเกิดจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบริการสาธารณะที่มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในด้านการศึกษา
นายยู่ จี้เฉียง นักสังคมสงเคราะห์ท้องถิ่นเปิดเผยว่า เขตพื้นที่หนานฉีของเมืองเหอเฟยมีประชาชน 90,000 คน แต่มีเพียงไม่กี่สิบครอบครัวเท่านั้นที่มีลูกคนที่สอง ก่อนที่จะประกาศใช้นโยบายใหม่ และขณะนี้ จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ครอบครัวแล้ว
เขตพื้นที่ดังกล่าวมีโรงเรียนอนุบาล 10 แห่ง โรงเรียนประถม 5 แห่ง และโรงเรียนมัธยมปลาย 1 แห่ง แต่ไม่มีโรงเรียนมัธยมต้นเลย "เราแทบไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษาได้ในขณะนี้ แต่ปัญหาต่างๆ จะปรากฎขึ้น เมื่อมีเด็กจำนวนมากขึ้นถึงเกณฑ์เข้าเรียน"
"พ่อแม่ในปัจจุบันไม่พอใจแค่การมีโรงเรียนเพียงพอ พวกเขาต้องการโรงเรียนที่ดีด้วย" นายหวัง หมิง หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับประถมศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการจีนกล่าว
นอกเหนือจากการสร้างโรงเรียนเพิ่มแล้ว การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและความสามารถของครูถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน นายหวังกล่าว
เนื่องจากเด็กเติบโตเพิ่มขึ้น โรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และการสร้างโรงเรียนอนุบาลเพิ่มขึ้นคือความสำคัญในลำดับแรก นายหวังทิ้งท้าย สำนักข่าวซินหัวรายงาน