ปี 2558 ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับตลาดหุ้นสิงคโปร์ไม่ว่าจะครึ่งปีแรกหรือครึ่งปีหลัง โดยครึ่งปีแรกนั้นมีปัจจัยเอื้ออำนวยจากปี 2557 ที่คาดว่ามีแนวโน้มสดใส แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังแล้ว แนวโน้มดังกล่าวก็หายไปอย่างรวดเร็ว นักลงทุนมีความเชื่อมั่นลดลงเป็นอย่างมากเนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญหลายๆประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วงลงของเงินหยวน ความผันผวนของตลาดหุ้นจีนเมื่อเดือนมิ.ย. การขยายตัวที่ชะลอลงของตลาดเกิดใหม่ ตลอดจนภาวะอ่อนแรงในด้านสินค้าโภคภัณฑ์
สำหรับปี 2559 นั้น OCBC Investment Research เปิดเผยว่า การปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ ประกอบกับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อผลประกอบการภาคธุรกิจ จะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นสิงคโปร์ นอกจากนี้ หุ้นของสหรัฐก็มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ และอาจกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และการจำนอง
เมื่อแนวโน้มในอนาคตยังไม่ชัดเจน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็จะปรับตัวสูงขึ้นในไม่ช้า OCBC จึงคาดการณ์ว่าตลาดในปี 2559 จะยังคงมีความผันผวน แต่ก็ชี้ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้เป็นปัจจัยลบต่อวงการหุ้นเสมอไป เนื่องจากเงินทุนอาจไหลออกจากตลาดพันธบัตร อสังหาริมทรัพย์หรือสินทรัพย์ผลตอบแทนสูงประเภทอื่นๆ เพื่อนำมาลงทุนในหุ้น
แม้ว่าองค์กรต่างๆอาจออกมาปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการอีกท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแรง แต่ OCBC เชื่อว่า ปัจจัยลบส่วนใหญ่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นไปแล้ว เนื่องจากการประเมินราคาเป็นไปอย่างเหมาะสมในระดับปัจจุบัน โดยขณะนี้ดัชนี Straits Times Index ของสิงคโปร์มีการซื้อขาย 11.9 เท่าของผลประกอบการ, 1.1 เท่าของมูลค่าตามบัญชี และคาดการณ์ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยที่ 4.3% สำหรับปีการเงิน 2559 ซึ่งระดับดังกล่าวใกล้เคียงกับวิกฤตเมื่อปี 2551 และ 2554
ด้าน CIMB Research เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการของภาคธุรกิจสิงคโปร์ในปีหน้านั้นไม่ค่อยดีนัก โดยการแห่สร้างอาคารในภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกิน อัตราค่าเช่าอ่อนแรงและอัตราการพักอาศัยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อุตสาหกรรมนอกชายฝั่งและการเดินเรือกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำมันที่อ่อนแรงลง ซึ่งทำให้คำสั่งซื้อถูกยกเลิก นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ความซบเซาของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มลามมายังสิงคโปร์
CIMB Research เสริมว่า หุ้นสิงคโปร์ไม่น่าจะมีราคาสูงขึ้นไปอีกนานเนื่องจากไม่มีปัจจัยกระตุ้น โดยนักลงทุนอาจต้องมองแนวโน้มหลังปี 2559 ซึ่งอาจเอื้ออำนวยต่อสิงคโปร์
CIMB เผยว่า ปัจจัยเอื้ออำนวยเหล่านี้รวมถึงการที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้บริษัทสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญตามความมุ่งมั่นของอาเซียนเพื่อหลอมรวมเป็นตลาดเดียว สำหรับประการที่สอง โครงการ Belt and Road ของจีน ซึ่งจีนจะจัดสรรเงินสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆตามแนว Maritime Silk Road นั้น จะมอบโอกาสให้ธนาคารของสิงคโปร์สามารถอำนวยความสะดวกในเรื่องดังกล่าวเพื่อหนุนการเติบโตของอาเซียนต่อไป
แนวโน้มอันโดดเด่นประการที่สามได้แก่ความก้าวหน้าในการบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เมื่อมองในภาพรวมระดับโลกแล้ว ข้อตกลง TPP จะเปิดโอกาสให้กับบริษัทต่างๆในการบุกตลาดใหม่ๆ สำหรับในส่วนของอาเซียน การเปิดกว้างในตลาดตามข้อตกลง TPP อาจช่วยดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติของสหรัฐเข้ามาลงทุนในอาเซียน เพื่อเสาะหาศูนย์การผลิตต้นทุนต่ำแห่งใหม่ในเอเชีย
สิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กลางที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจสหรัฐ ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเจ้าของสำนักงาน คลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ และธนาคารในสิงคโปร์จะกลายเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์
บทวิเคราะห์โดย Tan Shih Ming จากสำนักข่าวซินหัว