Analysis: นักวิเคราะห์คาดราคาน้ำมันยังเคลื่อนไหวในระดับต่ำในปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2015 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ร่วงลงไปแล้ว 30% ในปีนี้ ด้านนักวิเคราะห์คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำในระยะเวลาที่นานกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค

นายเจสัน บอร์ดอฟฟ์ กรรมการผู้ก่อตั้งศูนย์นโยบายพลังงานโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของสหรัฐ

"ปัจจุบัน การที่ราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2549 เป็นครั้งแรกได้ช่วยให้ประหยัดราคาน้ำมันได้เกือบ 100 ดอลลาร์ต่อเดือนต่อครอบครัว ซึ่งเป็นเหมือนกับการลดภาษีให้กับผู้บริโภค และอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้" นายบอร์ดอฟฟ์กล่าว และยังกล่าวด้วยว่า ต้นทุนหลักของน้ำมันส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำมันเบนซิน และทุกๆการปรับตัวลดลง 10 ดอลลาร์จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้เกือบ 25 เซนต์ต่อแกลลอน

ส่วนราคาน้ำมันเบนซินโดยเฉลี่ยของสหรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเป็นคั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2552 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ขณะที่สมาคมยานยนต์อเมริกันรายงานว่า กว่า 2 ใน 3 ของสถานีบริการน้ำมันในสหรัฐนั้น จำหน่ายน้ำมันเบนซินในราคาต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อแกลลอน

สมาคมยานยนต์อเมริกันประเมินว่า การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันช่วยให้ชาวอเมริกันประหยัดค่าน้ำมันได้ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือมากกว่า 550 ดอลลาร์ต่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ ชาวอเมริกันกว่า 91 ล้านคนมีแผนที่จะใช้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันในการขับรถไกลกว่า 80 กิโลเมตรในช่วงวันหยุดนี้

"ผู้ขับรถยนต์ทั่วประเทศต่างก็พอใจที่น้ำมันกลับมามีราคาถูกอีกครั้ง" นายมาร์แชลล์ โดนีย์ นายกสมาคมและซีอีโอกล่าว "ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในรอบเกือบ 7 ปีนับเป็นของขวัญวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน"

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ในขณะที่น้ำนดิบ WTI ที่ตลาดนิวยอร์กเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

"การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบเป็นผลมาจากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น การผลิตที่แข็งแกร่งทั้งในกลุ่มประเทศโอเอกและนอกกลุ่มโอเปก" นายเรย์มอนด์ คาร์โบน เทรดเดอร์น้ำมันของบริษัทพาราเมานท์ ออปชั่นส์ กล่าว

ที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.มีมติให้คงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระดับปัจจุบันในขณะที่ตลาดน้ำมันมีอุปทานที่สูงเกินไปอยู่แล้ว โดยปัจจุบันโอเปกมีกำลังการผลิตประมาณ 31.7 ล้านบาร์เรลต่อวันและปฏิเสธที่จะปรับลดกำลังผลิตลง

การตัดสินใจของโอเปกส่งผลให้เทรดเดอร์มีความวิตกกังวลว่าอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดอย่างยาวนานนั้น จะฉุดราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า ปัจจุบันตลาดน้ำมันมีอุปทานที่สูงเกินไป 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

"การประชุมโอเปกในครั้งนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงในอนาคตอันใกล้นี้" นายเรย์มอนด์กล่าว "ผมไม่คิดว่ามติของโอเปกจะเป็นอะไรที่เหนือการคาดการณ์ และคุณจะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันร่วงลงมานับตั้งแต่โอเปกเปิดเผยมติประชุม"

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า การปฎิรูปการผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันของสหรัฐส่งผลให้สหรัฐมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2551 เป็น 9.2 ล้านบาร์เรลในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำไปจนถึงปี 2559 และอาจจะนานกว่านั้น นายเรย์มอนด์กล่าวว่า "ราคาต่ำสุดของปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 34 ดอลลาร์/บาร์เรล ตลาดคาดว่าราคาจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวในช่วงสิ้นปี ขณะที่ผู้ผลิตกำลังจับตาดูว่าราคาจะคุ้มต้นทุนหรือไม่"

นายดาเมียน คูร์วาลิน นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ กล่าวว่า กำลังการผลิตของโอเปกในปี 2559 จะยังคงสูงกว่าระดับในปัจจุบันเล็กน้อยที่ระดับ 31.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่การผลิตน้ำมันในอิรักซึ่งเป็นประเทศสมาชิกโอเปกนั้น จะอยู่ต่ำกว่าระดับปัจจุบันเล็กน้อย และอิหร่านจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงขึ้น

นายคูร์วาลินยังกล่าวด้วยว่า อุปสงค์-อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะไม่กลับเข้าสู่สมดุลไปจนกว่าจะถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เนื่องจากมีปริมาณเกินดุลที่สูงเกินไป

โกลด์แมน แซคส์ แนะนำว่า ราคาน้ำมันควรจะอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือประมาณราคาซื้อขายในปัจจุบัน พร้อมกับคาดว่า สถานการณ์ที่แย่คือการที่ราคาน้ำมันร่วงลงไปแตะที่ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ด้าน EIA คาดว่า กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐจะอยู่ที่เฉลี่ย 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และลดลงสู่ระดับ 8.8 ล้านบาร์เรลในปีหน้า นอกจากนี้ EIA ยังคาดว่า ราคาน้ำมันจะอยู่ที่เฉลี่ย 49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ และ 51 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า

นายฟรานซิสโกล บลานช์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ของเมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจจะสร้างแรงกดดันในระยะสั้นต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่เฉพาะโลหะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรอีกด้วย

นายบลานช์คาดว่า สมดุลของตลาดน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่สองของปี 2559 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกฟื้นตัวขึ้น และการปรับลดกำลังการผลิตลงเล็กน้อยของประเทศนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งอาจจะผลักดันราคาน้ำมันให้กลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์โดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ