สำนักงานสถิติแห่งจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อหลัก ขยายตัว 1.4% ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำสถิติขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี และต่ำกว่าเป้าหมาย 3% ที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ นอกจากนั้นยังต่ำกว่าตัวเลขปี 2557 ที่ขยายตัว 2% และปี 2556 ที่ขยายตัว 2.6%
ราคาอาหารในปี 2558 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% ขณะที่ราคาสินค้านอกกลุ่มอาหารขยับขึ้น 1%
ราคาผู้บริโภคเริ่มมีการขยายตัวปานกลางในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยดัชนี CPI เดือนธ.ค. ปรับตัวขึ้น 1.6% เทียบรายปี หลังจากที่ขยายตัว 1.5% ในเดือนพ.ย. และ 1.3% ในเดือนต.ค.
หากเทียบเป็นรายเดือนแล้ว ดัชนี CPI เดือนธ.ค.ขยับขึ้น 0.5% จากเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังราคาผักและผลไม้พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากภัยฝนและหิมะได้ส่งผลกระทบต่อการผลิต ขณะที่ราคาสินค้านอกกลุ่มอาหารยังคงทรงตัว
ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่ง ปรับตัวลง 5.2% ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งร่วงลงหนักกว่าปี 2557 ที่ปรับตัวลดลง 1.9%
สำหรับในเดือนธ.ค. ดัชนี PPI ร่วงลง 5.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพ.ย.ที่หดตัวลง 5.9% เช่นกัน โดยดัชนี PPI ของจีนปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 46 ติดต่อกันแล้ว
ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การถลุงแร่โลหะกลุ่มเหล็ก การทำเหมืองแร่ถ่านหิน และก๊าซเชื้อเพลิง
นายชู หงปิน นักวิเคราะห์จากเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ดัชนี CPI และ PPI ขยายตัวต่ำกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แรงกดดันขาลงที่เกิดขึ้นจากความซบเซาของความต้องการนั้นจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงครั้งใหญ่ในปี 2559
อย่าไงรก็ตาม นายทอม ออร์ลิค นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขดัชนี CPI ทั่วไปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ประกอบกับการทรงตัวของราคาสินค้านอกกลุ่มอาหารแล้ว ความวิตกที่ว่าการหดตัวของภาคผู้ผลิตจะส่งผลต่อภาคผู้บริโภคนั้นก็น่าจะบรรเทาลง โดยเขากล่าวว่า "เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่มีเสถียรภาพ" สำนักข่าวซินหัวรายงาน