ทั้งนี้ เงินหยวนร่วงลง 1.5% เมื่อเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายสัปดาห์ นับตั้งแต่เดือนส.ค.
นายหลิว หลี่กัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก ANZ ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดเผยว่า ความผันผวนระยะสั้นของสกุลเงินหยวนนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงของสกุลเงิน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุน
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน (FX) ลดลงสู่ระดับ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี และลดลงไปถึง 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากสถิติเดือนพ.ย.
นายหลิวเสริมว่า ขณะเดียวกัน เงินหยวนที่อ่อนค่าลงยังเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ของสหรัฐ และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอัตราการขยายตัวในปี 2558 คาดว่า จะแตะอัตราต่ำสุดในรอบ 25 ปี
อย่างไรก็ดี นายเหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่น กล่าวว่า ไม่มีสาเหตุใดที่จะส่งผลให้สกุลเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงต่อในระยะยาว
นายเหลียนเปิดเผยว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจจีนยังคงแข็งแกร่ง โดยเศรษฐกิจเคลื่อนตัวภายในกรอบที่สมเหตุสมผล และจะมีการเดินหน้าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างในปี 2559 เพื่อหนุนเศรษฐกิจของประเทศ
แม้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนจะร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบรายเดือน แต่ทุนสำรองของจีนยังมี "ปริมาณมหาศาล" และจีนเองยังคงมี FX มากที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ทางการจีนได้มุ่งปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพพื้นฐานของเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล นายจาง จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ หัวซิน ซิเคียวริตีส์ กล่าว
ด้าน China Foreign Exchange Trading System (CFETS) ได้เปิดเผยดัชนี CFETS RMB เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ซึ่งเป็นดัชนีอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวน ที่วัดมูลค่าเงินตราโดยเทียบกับตะกร้าสกุลเงินต่างประเทศอีก 13 สกุลเงิน รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินเยน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า "ดัชนีจะช่วยแนะแนวนักลงทุน เพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสจากอัตราแลกเปลี่ยน 2 สกุลเงินระหว่างเงินหยวนและดอลลาร์สหรัฐ ไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอ้างอิงตามตะกร้าสกุลเงิน"
แบงก์ชาติจีนระบุว่า การคำนวณมูลค่าเมื่อเทียบตะกร้าสกุลเงินต่างๆ นั้น ไม่ได้หมายความถึงการผูกติดกับตะกร้าสกุลเงิน แต่ PBOC "จะดูแลอัตราการแลกเปลี่ยนเงินหยวนให้มีเสถียรภาพในระดับพื้นฐาน ซึ่งมีความยืดหยุ่นและมีดุลยภาพ"
นายจางกล่าวว่า เมื่อนักลงทุนเข้าใจกลไกอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่อิงตามตลาด การทำช็อตเซลเงินหยวนจะปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ ทางการจีนยังย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะปั่นเงินหยวนให้ร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากสัดส่วนยอดการค้าต่างประเทศที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับตัวลดลง
บทความบนเว็บไซต์ PBOC ระบุว่า "แม้ว่าการขยายตัวของยอดส่งออกจีนจะหดตัวลงในปี 2558 แต่สัดส่วนการส่งออกทั้งหมดของจีนทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น จีนจึงไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการส่งออก และสร้างเสถียรภาพให้กับการขยายตัว ด้วยการทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลงเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน"
ขณะที่นายหลิวแนะนำว่า กุญแจสู่การรักษาเสถียรภาพพื้นฐานของเงินหยวนในระยะกลางและระยะยาว อยู่ที่การปฏิรูป โดยเป็นการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันให้มีการใช้งานสกุลเงินหยวนในระดับสากล
นายหลิวทิ้งท้ายว่า เงินหยวนที่มีเสถียรภาพจะส่งผลดีต่อการยกระดับขีดความสามารถของจีน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนและการค้าข้ามพรมแดน สำนักข่าวซินหัวรายงาน