Analysis: AIIB ที่ริเริ่มโดยจีนมีความแตกต่างอย่างมากจาก Marshall Plan

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ไม่ใช่ Marshall Plan ของจีน ตามที่สื่อตะวันตกบางรายกล่าวอ้าง เนื่องจาก AIIB ไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการเผชิญหน้าหรือควบคุม แต่เป็นการดำเนินการด้านการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

AIIB มีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นในการระดมทุนแก่โครงการต่างๆในด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและโครงการรัฐบาลอื่นๆในภูมิภาค และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายวาสิลี มิเคเยฟ รองผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากของรัสเซียรัสเซีย กล่าวว่า สำหรับจีนนั้น "AIIB จะสร้างโอกาสสำหรับภาคธุรกิจจีนในด้านการลงทุนและยังสร้างอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์จากจีนอีกด้วย"

จีนได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และต้องการที่จะช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่การพัฒนาของประเทศอื่นๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวทำให้ AIIB มีความแตกต่างไปจาก Marshall Plan ซึ่งช่วยให้สหรัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในการมีอำนาจเหนือยุโรปและจำกัดอิทธิพลของโซเวียตในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

จีนได้เสนอให้มีการก่อตั้ง "ธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคีแห่งทศวรรษที่ 21 ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส" เนื่องจากต้องการให้ช่วยอุดช่องโหว่ด้านการระดมทุนโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในเอเชีย

เอเชียต้องการเม็ดเงินประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในช่วงหลายปีข้างหน้า แต่สถาบันต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถปล่อยเงินกู้ได้เพียงแค่ส่วนหนึ่งของจำนวนเงินดังกล่าว

ประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ได้ตั้งความหวังไว้สูงกับโครงการดังกล่าว

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของไทยกล่าวว่า "หากคุณให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศที่ต้องการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน คุณจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นและช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นลง" ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกก็คาดหวังที่จะได้รับประโยชน์จาก AIIB เช่นเดียวกัน

ปีเตอร์ ดรีสเดล ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า AIIB เป็นโครงการริเริ่มที่กล้าหาญ ซึ่งบรรดาพันธมิตร เช่น ออสเตรเลีย มีส่วนอย่างมากในความสำเร็จของจีน

ในมุมมองของนายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษนั้น AIIB ช่วยให้อังกฤษสามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชียและแบ่งปันประสบการณ์ในด้านกฎระเบียบของสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อพัฒนารูปแบบการกำกับดูแลสำหรับ AIIB

อังกฤษเป็นประเทศยุโรปรายแรกที่แสดงเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก AIIB ในปีที่แล้ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า AIIB จะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเติมเต็มสถาบันการเงินระหว่างประเทศในปัจจุบัน เช่น ธนาคารโลก ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า ADB อยู่ระหว่างประเมินความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการที่ ADB ให้การสนับสนุนทางการเงินร่วมกับ AIIB

นอกจากนี้ AIIB ยังให้ผลประโยชน์อีกประการหนึ่ง นั่นก็คือการกระตุ้นการปฏิรูปการกำกับดูแลในทั่วโลก และเมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐได้ยุติการเตะถ่วงในการอนุมัติข้อตกลงเพื่อปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเชื่อกันว่า AIIB มีบทบาทกระตุ้นให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น

"AIIB เป็นโครงการริเริ่มที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยแม้เผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่นั่นก็ทำให้ AIIB เป็นสถาบันที่แข็งแกร่งขึ้น" นายดรีสเดลกล่าว

บทวิเคราะห์โดย เฉิน จือเผิง จากสำนักข่าวซินหัว


แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ