นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ภาคการผลิตของจีนจะได้รับปัจจัยหนุนมากขึ้น จากการที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีนมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้เผยแผนพัฒนาภาคการผลิตทั้งสิ้น 3 รายการ ประกอบด้วย แผนพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี อาทิ เครื่องจักรอัจฉริยะ และมีการระดมทุนสำหรับใช้ในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอีกทั้งสิ้น 10 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน
"จีนตั้งเป้าให้ภาคการผลิตขยายตัวขึ้นอีก 7% ในช่วงปี 2559-2561 โดยหวังให้การลงทุนภาคเอกชนโตขึ้นอีก 15% เพื่อยกระดับการพัฒนาให้เหนือชั้นมากยิ่งขึ้นในช่วงปีดังกล่าว
นอกจากนี้ จีนยังประกาศนโยบายที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตโดยตรง อาทิ การสร้างเรือ การลงทุนด้านอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย และการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินทั่วไป
นายอู่ ฉี นักวิจัยจากธนาคารหมินเซิง ระบุว่า นโยบายเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของภาคการผลิตดั้งเดิม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมใหม่ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ การผลิตสินค้าและการบริการก็จะมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น จากการผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้านอุปทาน (supply-side structural reform)
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นหลังมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 6% ในแดือนเม.ย. ขณะที่ยอดการส่งออกและนำเข้าก็ต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ชี้ให้เห็นถึงภาวะอุปสงค์ซบเซาลงทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์อิโคโนมิค เดลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ในเครือสำนักข่าวซินหัว ระบุว่า ในส่วนของมาตราการสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีนั้น จีนจะมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีข้อมูล, บิ๊กดาต้า, วัสดุใหม่ๆ ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมาตราดังกล่าวจะเริ่มใช้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคการผลิตนั้นอาจเป็นงานที่ค่อนข้างกดดันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากจีนนั้นเป็น "โรงงานอุตสาหกรรมโลก" ที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต่างต้องพึ่งพา โดยจีนเตรียมยกเครื่องเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโต สวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซา
ข้อมูลสถิติจาก Oxford Economics ระบุว่า อัตราค่าแรงของภาคการผลิตจีนมีระดับต่ำกว่าครึ่งของอัตราค่าแรงสหรัฐในปี 2546 โดยในปัจจุบัน ค่าแรงจีนก็ยังคงต่ำกว่าระดับค่าแรงของสหรัฐอยู่ แต่ไม่มากนัก นอกจากนี้ ความสามารถทางการผลิตของแรงงานจีนก็ต่ำกว่าสหรัฐถึง 1 ใน 6 เมื่อวัดจากจำนวนผลผลิตต่อจำนวนแรงงาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนจึงประกาศแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมระยะ 10 ปีภายใต้ชื่อ "Made in China 2025" ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การเสริมประสิทธิภาพทางการผลิตให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
นายลู่ ปิงเหิง เจ้าหน้าที่จากสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ถ้าเปรียบเทียบจีนกับสหรัฐและชาติในกลุ่มประเทศยุโรป จีนก็ยังถือว่ามีความได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่ เนื่องจากจีนมีระบบอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมมากกว่า รวมถึงมีตลาดและแรงงานอีกเป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ นายลู่กล่าวว่า การยกระดับภาคการผลิตจีนผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมให้มีความทันสมัย จะช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของจีนให้กับมาสดใสอีกครั้ง และเสริมให้เศรษฐกิจในภาพรวมของจีนเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน