นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน แสดงจุดยืนอันแข็งกร้าวต่อเหตุก่อการร้าย ภายหลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงในรัฐฟลอริด้า โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายรายคาดเดาว่า ท่าทีดังกล่าวอาจช่วยให้เขาคว้าตำแหน่ง ปธน. ไปครองก็เป็นได้
จากหนึ่งในเหตุก่อการร้ายอันเลวร้ายที่สุดในสหรัฐ มือปืนซึ่งปฏิญาณตนสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) กราดยิงประชาชนจนเสียชีวิต 49 ราย และอีก 53 รายได้รับบาดเจ็บ ณ ไนท์คลับของกลุ่มรักร่วมเพศ ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริด้า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ถือเป็นเหตุกราดยิงครั้งรายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ
ทรัมป์ได้ออกมาแสดงปฏิกริยาต่อต้านเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง ในขณะที่ประชาชนกำลังมองหาผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่เหลาะแหละ เพื่อนำพาประเทศชาติสู่ความปลอดภัย
ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ระงับการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมาจากประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย นับเป็นคำพูดที่สร้างความขัดแย้งในประเทศ
ขณะที่ทรัมป์สร้างความหวาดเสียวให้กับสมาชิกในพรรคอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คะแนนเสียงในทางลบของเขาก็พุ่งกระฉูด หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือหลายคนไม่ชอบหน้าเจ้าพ่อคนนี้อย่างแรงจากคำปราศัยอันบ้าบิ่น และวิธีการพูดซึ่งไม่สมที่จะเป็นผู้นำประเทศเอาเสียเลย
ดาร์เรลล์ เวสต์ รองประธานและผู้อำนวยการสาขาวิชาการปกครอง สถาบันบรูกกิงส์ กล่าวว่า "ความเห็นของทรัมป์ที่มีต่อเหตุก่อการร้ายซึ่งต่อต้านชาวมุสลิมนั้นสุดโต่งเกินไป และก็ตอกย้ำความเป็นนักการเมืองหัวรุนแรงของเขาเอง"
ทั้งนี้ ทรัมป์ออกมาต่อต้านการก่อการร้ายอย่างแข็งกร้าวเป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุกราดยิง 1 วัน พร้อมกับแสดงศักยภาพแห่งความเป็นผู้นำในการต่อกรกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงได้สมกับที่มีผู้สังเกตุการณ์หลายคนเห็นแวว ทว่าหลังจากกล่าวปราศรัยไปได้ไม่นานเขาก็จุดประเด็นโต้แย้งด้วยการเรียกร้องให้สั่งห้ามประชาชนซึ่งมาจากพื้นที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเข้าประเทศ
แม้จะมีคนบางกลุ่มสนับสนุนเขา ทว่าผู้ออกเสียงที่เป็นกลางนั้นรู้สึกไม่พอใจต่อนโยบายอันไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการร้ายด้วยเลย การปราศรัยดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยให้คะแนนเสียงในทางลบซึ่งสูงถึง 70% ของเขาลดลงแม้แต่น้อย
ผู้เชี่ยวชาญบางรายออกความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะแยกมุสลิมในประเทศออกเป็นฝักเป็นฝ่ายคือกลุ่มชนชั้นกลาง ชั้นสูง และกลุ่มที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงอาจนำไปสู่การผ่อนปรนต่อแนวคิดหัวรุนแรงด้วย
จูเลียน ซีลเซอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และกิจการสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ทรัมป์ไม่สามารถหลุดพ้นจากทัศนคติเชิงลบและจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อการก่อการร้ายของตัวเองไปได้
"สิ่งที่ทรัมป์ตอบโต้ออกมานั้นมีแต่จะลดทอนความนิยมของตนเองลง แทนที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้นำที่ดีนั้นเป็นแบบใด เขากลับเล่นบทผู้บัญชาการทหารสูงสุดเสียอย่างนั้น" ซีลเซอร์กล่าว
ประเด็นดังกล่าวนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากมิได้มุ่งไปที่ลัทธิหัวรุนแรงเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงเรื่องการควบคุมอาวุธปืนด้วยเช่นกัน ขณะที่นางฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ประกาศผลักดันมาตรการควบคุมอาวุธปืนให้ไกลจากมือของอาชญากรและผู้ก่อการร้าย
ขณะนี้ แนวคิดเรื่องการครอบครองอาวุธปืนแตกเป็น 2 ขั้ว ด้านหนึ่งเห็นว่ากฎหมายควบคุมอาวุธปืนนั้นหละหลวม ส่วนอีกด้านหนึ่งอ้างถึงอิทธิพลของลัทธิหัวรุนแรงที่ระบาดไปทั่วอินเตอร์เน็ต
แม้จะยังไม่มีความกระจ่างว่า นายโอมาร์ มาทีน ฆาตกรซึ่งถูกวิสามัญโดยตำรวจขณะก่อเหตุนั้นเคยติดต่อกับกลุ่ม IS โดยตรงหรือไม่ แต่ก็มีหลักฐานว่าเขาได้รับแรงจูงใจมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอิสลามออนไลน์
ทั้งนี้ นายมาทีนเคยมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบบัญชีเฝ้าระวังด้านการก่อการร้ายของ FBI แต่ก็ยังสามารถซื้ออาวุธปืนมาไว้ในครอบครองอย่างถูกกฏหมาย
บทวิเคราะห์โดย แมทธิว รัสลิ่ง สำนักข่าวซินหัว