China Focus: ภาคการผลิตจีนหดตัว หลังจีนใช้มาตรการลดกำลังผลิตส่วนเกิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 2, 2016 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) และสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนประจำเดือนก.ค. อยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจาก 50.0 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว ส่วนดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตหดตัว

จ้าว ฉิงเหอ เจ้าหน้าที่สถิติของ NBS กล่าวว่า เหตุน้ำท่วมในพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการผลิตและขนส่งของประเทศ นอกจากนี้ การชะลอตัวลงของอุปสงค์ในตลาดและความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนที่ลดลงของภาคเอกชนยังมีส่วนทำให้ภาคการผลิตหดตัวลงอีกด้วย

ทั้งนี้ ภาคการผลิตของจีนหดตัวลงหลังจากที่จีนได้เริ่มใช้มาตรการในการลดกำลังการผลิตที่สูงเกินไปของภาคการผลิตลง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและซีเมนต์

นายจ้าวตั้งข้อสังเกตว่า ท่ามกลางบรรยากาศภาคการผลิตที่อึมครึม มีบางปัจจัยที่เป็นบวก โดยดัชนีย่อยในส่วนของการผลิตสินค้าไฮเท็คแตะที่ 53.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปีนี้

ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50.60 ในเดือนก.ค. จากเดือนมิ.ย.ที่ระดับ 48.60 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.

ดัชนีของไฉซินได้บ่งชี้ถึงการขยายตัวของคำสั่งซื้อใหม่และยอดสต็อกของภาคเอกชน

จง เจิงเฉิง ผู้อำนวยการฝ่ายการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคของ CEBM Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Caixin Insight Group กล่าวว่า "เนื่องจากผลกระทบจากนโบายการเงินในเชิงรุก เศรษฐกิจจีนกำลังส่งสัญญาณถึงการมีเสถียรภาพ"

แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงขาลง นายจงกล่าวเสริม และยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังและมาตรการทางการเงินมาสนับสนุน

ทั้งนี้ แม้ว่าภาคการผลิตชะลอตัวลงนั้น ภาคบริการของจีนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนในอัตราที่เร็วขึ้นในเดือนก.ค. และกลายมาเป็นกลไกด้านการขยายตัวใหม่ของภาคเศรษฐกิจ

ข้อมูลของ NBS บ่งชี้ว่า ดัชนีภาคบริการได้ขยายตัว 0.2% แตะที่ 53.9 ซึ่งระดับสูงสุดในปีนี้

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนขยายตัว 6.7% ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นอัตรการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในช่วงต้นปี 2552

นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการขยายตัวในรูปตัว L เนื่องจากยังคงมีแรงกดดันขาลงและแรงขันเคลื่อนของการขยายตัวใหม่ๆยังไม่เพิ่มขึ้น

ส่วนในที่ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้นโยบายการคลังในเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รัดกุม รวมทั้งการบริหารนโยบายและทิศของเศรษฐกิจมหภาคอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำนักข่าวซฺนหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ