Analysis: นักธุรกิจมะกันเสียงแตกต่อแผนการรื้อนาฟต้าของ "ทรัมป์"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2017 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การดำรงตำแหน่งในช่วงเดือนแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้นำประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ได้ถูกจับตามองจากบรรดานักธุรกิจ ซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปต่อแผนการรื้อการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟต้าที่ถูกประกาศใช้มานานกว่า 2 ทศวรรษ

ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาประกาศว่า จะหาทางเจรจาแก้ไขข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในภาระกิจหลักที่ทรัมป์ได้พูดไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าวมองว่า นาฟต้าทำให้ชาวอเมริกันมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนอีกฝ่ายกลับมองว่าข้อตกลงเป็นสาเหตุที่ทำให้อเมริกาสูญเสียการจ้างงานในภาคการผลิต โดยการเจรจาครั้งนี้จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าซึ่งทรัมป์จะเข้าพูดคุยกับประธานาธิบดีเอนริเก้ เปญ่า เนียโต้ ของเม็กซิโก

ขณะที่หลายฝ่ายต่างให้การสนับสนุนความมุ่งมั่นในที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ แต่เหล่านักธุรกิจต่างมีความเห็นที่ผสมปนเปกันไป

นายเอ็ดเวิร์ด เมอร์เมลสไตน์ ทนายความด้านอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศของ One & Only Realty Holdings กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า เขาเชื่อว่านาฟต้าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยย้ำว่าข้อตกลงดังกล่าวได้ทำให้สหรัฐเสียประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง

"การเลือกใช้แนวทางรื้อข้อตกลงนาฟต้าในรูปแบบที่ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐมีจุดยืนที่ดีแทนที่จะต้องแบกรับภาระด้านการค้า และเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวต่อไป" นายเมอเมลสตีนกล่าว และระบุว่าการแก้ไขข้อตกลงนี้จะช่วย "เพิ่มงานในสหรัฐและเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเรา และทั้งหมดทั้งมวลสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือจะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"

นายเมอเมลสไตน์ กล่าวว่า ความคิดในการรื้อการเจรจาครั้งนี้ควรจะนำมาใช้กับข้อตกลงทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงแค่ข้อตกลงกับประเทศในอเมริกาเหนือเท่านั้น แต่รวมทั้งยุโรปและเอเชียด้วย เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และเสริมว่า สหรัฐได้เล็งเห็นถึง "ผลกระทบด้านลบ" รวมทั้งการสูญเสียการจ้างงาน จากข้อตกลงการค้าที่ถูกบังคับใช้มานานกว่า 20 ปีฉบับนี้ ดังนั้นแนวคิดในการแก้ไขข้อตกลงทางการค้าจะช่วยประคับประคองภาคการผลิตของประเทศ"

ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเชื่อว่าวิธีนี้เป็นการยับยั้งการค้าเสรี โดย ฟิล ชอว์ ผู้บริหารของ TransPerfect ที่อ้างว่าเป็นผู้ให้บริการด้านการแปลของเอกชนที่ใหญ่ที่สุดและมีผลกำไรดีที่สุดในโลกโดยมีกิจการอยู่ในกว่า 100 ประเทศ และมีพนักงานกว่า 4000 คน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "การปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและความพยายามในการยับยั้งการค้าเสรี อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดในแง่ผลประโยชน์ของสังคม"

ชอว์ได้ตั้งคำถามว่า “สังคมจะได้อะไรจากการที่ผู้คนจ่ายเงินจำนวน 1,500 ดอลลาร์สำหรับไอโฟนเครื่องหนึ่ง แทนที่จะจ่ายเพียง 600 ดอลลาร์" พร้อมตั้งข้อสังเกตอีกว่า “นักการเมืองมักจะไม่พูดถึงประโยชน์ของการค้าเสรีอย่างชัดเจนในขณะกล่าวสุนทรพจน์"

ชอว์กล่าวว่า “ถ้าอเมริกาอยากดึงการจ้างงานกลับมา ควรจะแน่ใจเสียก่อนว่าเรามีความเชี่ยวชาญ การเพิ่มมูลค่า และการศึกษาที่สูงพอสำหรับงานเหล่านั้น ดังนั้นการดำเนินการในเรื่องนี้ถึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ" และกล่าวเสริมอีกว่า "สิ่งที่ผมไม่เคยได้ยินขณะฟังนักการเมืองพูดถึงการดึงการจ้างงานในภาคการผลิตกลับคืนมา ก็คือต้นทุนทางสังคม" เขากล่าว

แมทธิว รัสลิง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ