นักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของจีนที่มีการขยายตัวรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ในเดือนม.ค.นั้น เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของจีนอยู่ในทิศทางการขยายตัวที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนหันไปจับตาดูความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีน (PBOC) อย่างใกล้ชิดว่าจะกำหนดนโยบายการเงินเช่นไร
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน พุ่งขึ้น 6.9% ในเดือนม.ค. ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 6.5% และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนดัชนี PPI ให้ทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างมาก ประกอบกับภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวสืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
สำหรับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจจีนนั้น ดัชนี PPI ได้ให้สัญญาณที่เป็นบวก เนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจช่วยกระตุ้นผลกำไรในภาคธุรกิจ ตลอดจนช่วยควบคุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในภาคการเงิน
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนยังระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ มีการขยายตัว 2.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.4% และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือนธ.ค.ที่ 2.1% เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนได้หนุนราคาอาหาร ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้ปรับตัวสูงขึ้น
นายทอม ออร์ลิค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของบลูมเบิร์ก มองว่า การที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวเช่นนี้ ทำให้ธนาคารกลางจีนเฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่าแรงกดดันของเงินเฟ้อในจีนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง
ด้านนายเหวิน ปิน นักวิเคราะห์จากธนาคารไชน่า หมินเซิง (CMBC) กล่าวเตือนว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อที่มาจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของ PPI นั้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางพิจารณากำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายเหวินมองว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดิมต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายมุ่งให้ความสำคัญไปที่ค่าเงินหยวน การไหลออกของเงินทุน รวมไปถึงแรงกดดันของเงินเฟ้อในระยะเริ่มต้นมากกว่า
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในเร็วๆนี้ เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยผู้กำหนดนโยบายอาจหันไปดำเนินมาตรการผ่านทางตลาดเงิน (Open Market Operations) และใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆในการปรับสภาพคล่องในระบบมากกว่า สำนักข่าวซินหัวรายงาน