การที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่สำคัญ พุ่งขึ้นแตะ 2.3% ในเดือนก.พ. ในขณะที่ตัวเลขกู้ยืมของภาครัฐปรับตัวลดลงนั้น อาจเป็นผลดีสำหรับรัฐบาลอังกฤษ ในช่วงเวลาสำคัญที่อังกฤษกำลังเดินหน้ากระบวนการเจรจาเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า ดัชนี CPI ได้ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนธ.ค. 2556 ที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.1% แต่ยังอยู่ในกรอบการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเพราะได้รับปัจจัยขับเคลื่อนจากราคาอาหารและพลังงาน ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเร็วขึ้นนั้น มาจากอัตราแลกเปลี่ยน
นายแซม ฮิลล์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ แคนาดา ระบุว่า อังกฤษมีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าสู่ระดับ 1.9% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 1.1% ในเดือนม.ค. และระดับ -1.4% ในเดือนส.ค.ปีที่แล้วนั้น จึงบ่งชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในภาคส่วนดังกล่าวเป็นอย่างมาก
"ในทางกลับกัน ตัวเลขเงินเฟ้อในภาคบริการที่ระดับ 2.8% เมื่อเทียบรายปีนั้น ถือเป็นระดับที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากระดับ 2.9% ในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว โดยบ่งชี้ว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อในอังกฤษยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้นในขณะนี้" ฮิลล์กล่าว
ขณะที่ซูเรน ธิรู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสภาหอการค้าอังกฤษ (BCC) ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่มีการเปิดเผยล่าสุดนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การปรับตัวขึ้นของราคาในอังกฤษอยู่ในทิศทางขาขึ้นอย่างมั่นคง"
นักวิเคราะห์มองว่า ตัวเลขเงินเฟ้อนี้จะไม่ส่งผลให้ธนาคารกลางอังกฤษหันมาใช้นโยบายการเงินแบบเร่งด่วน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยของ BoE ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25% โดยถูกปรับลดลงจากระดับ 0.5% เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว อันเป็นมาตรการเบื้องต้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจากผลกระทบของการลงประชามติ Brexit
"ด้วยเหตุนี้ การขยายตัวของเงินเฟ้อในอนาคตจึงอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (MPC) คาดการณ์ไว้เพียงเล็กน้อย" นายรูธ เกรกอรีและนายสกอตต์ โบว์แมน นักเศรษฐศาสตร์แห่งบริษัทแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ระบุในบันทึก
นายโบว์แมนและเกรกอรี กล่าวเสริมด้วยว่า "สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนของการเจรจา Brexit ประกอบกับสัญญาณจากแรงกดดันของเงินเฟ้อในประเทศที่มีไม่มากนัก ดังนั้นทางคณะกรรมการ MPC จึงไม่พิจารณาว่าเป็นแรงกดดันเฉียบพลันที่จะทำให้ BoE ต้องรีบดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
"ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ MPC จึงน่าที่จะคงนโยบายการเงินเช่นนี้ต่อไปจนถึงปี 2018 เป็นอย่างน้อย แต่หากเศรษฐกิจอังกฤษมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามที่คาดการณ์ไว้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์"