การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่เมืองตาออร์มินา ประเทศอิตาลี ได้ปิดฉากลงในวันเสาร์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการค้าระหว่างประเทศ
นักวิเคราะห์มองว่า การที่ผู้นำ G7 ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญๆในที่ประชุมซัมมิตครั้งนี้นั้น ถือเป็นความผิดปกติในเชิงบริบท เนื่องจากที่ประชุมครั้งนี้มีการออกแถลงการณ์ร่วมที่สะท้อนเพียงมุมมองที่สอดคล้องกันของบรรดาผู้นำ G7 เท่านั้น โดยจะเห็นได้จากแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม G7 ครั้งนี้ มีรายละเอียดเพียง 6 หน้ากระดาษ เมื่อเทียบกับแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมซัมมิต G7 ครั้งก่อนที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนถึง 36 หน้า
นอกจากนี้ การประชุมซัมมิตที่ตาออร์มินาในปีนี้ ก็จัดขึ้นเพียง 2 วัน จากปกติที่หารือกันเป็นเวลา 3 วัน
รายงานระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ได้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญๆได้ ถึงขนาดที่สื่อแดนอิตาลีเรียกการประชุมครั้งนี้ว่า "G6 บวก 1" แทน G7
ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ปธน.ทรัมป์ได้ปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้ที่ประชุมครั้งนี้ทำได้เพียงระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า สหรัฐอยู่ในขั้นประเมินนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีสเท่านั้น" ขณะที่แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและอังกฤษ ต่างก็ตอกย้ำที่จะยึดมั่นในพันธกรณีที่มีให้กับข้อตกลงปารีสอย่างแข็งขัน
สำหรับประเด็นการค้านั้น ปธน.ทรัมป์กล่าวอ้างว่า ประเทศอื่นๆมีแนวทางปฏิบัติในด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลให้สหรัฐเกิดความเสียเปรียบ และนำไปสู่ความล้มเหลวในการเจรจาบนที่ประชุมครั้งนี้
นายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวภายหลังการประชุมได้เสร็จสิ้นลงว่า "การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 'ท้าทายที่สุด' ในรอบหลายปีเลยทีเดียว"
ขณะที่นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า "การเจรจาครั้งนี้น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก"
แมร์เคล กล่าวเสริมว่า "เราอยู่ในสถานการณ์ที่ชาติสมาชิก 6 ประเทศ หรือ 7 ถ้านับรวมสหภาพยุโรป มีจุดยืนที่ขัดแย้งกับอีก 1 ประเทศ" ทั้งนี้สหภาพยุโรปเข้าร่วมการประชุม G7 ในฐานะผู้สังเกตการณ์ถาวร
ปธน.ทรัมป์เป็นผู้นำ G7 เพียงคนเดียวที่ไม่ได้ออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่เมืองตาออร์มินา แต่เขากลับเลือกที่จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารอเมริกันที่ฐานทัพอากาศของกองทัพเรือในเมืองซิโกเนลลี ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองตาออร์มินา ไปทางใต้ราว 65 กม. และหลังจากนั้น ปธน.ทรัมป์ก็ได้เดินทางกลับกรุงวอชิงตันโดยบินจากฐานทัพดังกล่าว แทนที่จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานคาตาเนียเหมือนกับผู้นำคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การประชุม G7 ครั้งนี้มีข้อตกลงร่วมกันในบางประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย โดยผู้นำ G7 ได้ร่วมประณามผู้ก่อเหตุวินาศกรรมที่เมืองแมนเชสเตอร์ของอังกฤษในสัปดาห์ที่แล้ว โดยทรัมป์ระบุว่า "การก่อการร้ายถือเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายต่อมวลมนุษยชาติ"
นอกจากนี้ บรรดาผู้นำ G7 ยังเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องยุติปัญหาความไม่สงบในซีเรีย รวมถึงการรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของเกาหลีเหนือ และการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน
อย่างไรก็ดี องค์กรอ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิการประชุมซัมมิต G7 ครั้งนี้ว่าไม่สามารถออกมาตรการแก้ปัญหาผู้อพยพได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับระบุด้วยว่า "การประชุมครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุฉันทามติที่เกี่ยวกับการมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ทั่วโลก"
สำนักข่าวซินหัวรายงาน บทวิเคราะห์โดย เอริค เจ. ไลแมน