เหตุเพลิงไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 58 รายนั้น ได้ส่งผลให้ชาวอังกฤษรู้สึกโกรธเคืองเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุให้การเมืองในประเทศต้องมีอันระส่ำระสายตามไปด้วย
อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นอพาร์ทเมนต์สูง 24 ชั้นในเขตคิงสตันของกรุงลอนดอน ได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แม้เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ตั้งอยู่ในเขตที่ขึ้นชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในกรุงลอนดอน แต่อาคารหลังดังกล่าวกลับเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาคนยากคนจน รวมถึงผู้อพยพที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ซึ่งส่วนมากมักเป็นชาวอาหรับและชาวแอฟริกัน
เกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ก่อสร้างโดยเทศบาลเขตคิงสตันและเชลซี (RBKC) ในปี 2517 และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ the Kensington and Chelsea Tenant Management Organisation (KCTMO)
เมื่อปีที่ผ่านมา อาคารหลังดังกล่าวได้รับการบูรณะซ่อมแซมด้วยงบประมาณกว่า 10 ล้านปอนด์ (หรือ 12.8 ล้านดอลลาร์) แต่ก็ไม่ได้มีการติดตั้งสปริงเกอร์ดับเพลิงภายในอาคาร ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่บนเกาะอังกฤษ
เหล่าฝูงชนเดินขบวนประท้วง
ผู้รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ได้ออกมาตำหนิ KCTMO และ RBKC รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่สามารถเสริมความปลอดภัยให้กับตัวอาคารได้
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บรรดาผู้อยู่ที่รอดชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ออกเดินขบวนประท้วงไปยังสำนักงานใหญ่ของ RBKC เพื่อขอเข้าพบผู้จัดการโครงการ และได้พยายามที่จะเข้าไปในตัวอาคารหลังจากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะลงมาเจรจาด้วย
ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้เดินทางไปยังเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ เป็นครั้งที่ 3 ในช่วงระยะเวลา 2 วันหลังเกิดเหตุ
นางเมย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุครั้งแรก เนื่องจากเธอไม่ได้พูดคุยกับผู้รอดชีวิต แต่กลับใช้โอกาสพบปะพูดคุยกับทีมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว
ในเวลาต่อมา นางเมย์ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้รอดชีวิตเป็นการส่วนตัวที่โรงพยาบาล แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนที่กล่าวว่า การเยี่ยมผู้รอดชีวิตของเธอไม่ได้ปรากฏสู่สายตาประชาชน
ในวันช่วงบ่ายวันศุกร์ นางเมย์ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้รอดชีวิตเป็นการส่วนตัวอีกครั้ง โดยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกันฝูงชนออกจากนางเมย์เพื่อให้สามารถเดินทางออกจากตัวอาคารได้ เนื่องจากมีผู้รอดชีวิตและผู้ประท้วงจำนวนมากมารวมตัวกันอยู่ภายนอก
ผลกระทบด้านการเมือง
นายโทนี ทราเวอร์ส อาจารย์จากสถาบัน London School of Economics and Political Science (LSE) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหันว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งรุนแรงและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ดังกล่าวจากภาครัฐ คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองในประเทศ
สิ่งที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ในตอนนี้ คือนโยบายด้านความปลอดภัยของกรมการปกครองท้องถิ่น และความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่เพิ่มงบประมาณเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน
"ผู้คนต่างโกรธเคืองรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณด้านการดูแลและบริการประชาชนตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา" นายทราเวอร์สกล่าว
นอกจากนี้ นายทราเวอร์ส ยังได้ย้ำอีกด้วยว่า เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อรัฐบาลของนางเมย์ หลังจากที่พรรคอนุรักษ์นิยมของเธอได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภาสามัญชนชนิดพลิกความคาดหมายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา
"การจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงสำหรับนางเมย์มากอยู่แล้วในขณะนี้ และเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้ความพยายามของเธอให้ลำบากขึ้นไปอีก" นายเทรเวอร์สกล่าว