ผลสำรวจล่าสุดจาก Ifop เปิดเผยว่า คะแนนความนิยมของนายเอมมานูเอล มาครอง ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครบ 100 วันไปหมาดๆเมื่อวานนี้ ลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
คะแนนความนิยมของนายมาครองร่วงลงเหลือเพียง 36% หรือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 100 วันแรก โดยคะแนนนิยมของมาครองอยู่ในระดับสูงกว่าอดีตประธานาธิบดีฟร็องซัว ออลลองด์ อยู่เพียง 10 จุดเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คะแนนนิยมของนายมาครองเคยพุ่งไปถึง 66.10% เมื่อวันที่เขาคว้าชัยในชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์มองว่า คะแนนนิยมของนายมาครองที่ลดฮวบลงอย่างมากนี้ เป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงการที่รัฐมนตรีหลายคนประกาศลาออกจากตำแหน่ง และความพยายามของนายมาครองที่ต้องการเดินหน้าใช้โครงการต่างๆเพื่อทำให้การเมืองของฝรั่งเศสขาวสะอาด
แต่เหตุผลที่ทำให้ความนิยมของนายมาครองลดลงมากที่สุดนั้น เชื่อว่ามาจากโครงการปฏิรูปของรัฐบาล โดยเฉพาะการประกาศลดเงินอุดหนุนภาคครัวเรือนลง 5 ยูโรต่อเดือน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้
นายฌาคส์ เมซาร์ รมว.กระทรวงการสร้างความเป็นปึกแผ่นแห่งดินแดน (Territorial Cohesion) กล่าวกับสถานีวิทยุ RTL เมื่อช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า "เราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าปฏิรูปเงินอุดหนุนภาคครัวเรือน เนื่องจากเราจำเป็นที่จะต้องจัดการกับเงินจำนวนดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเพื่อให้การปฏิรูปโครงสร้างดำเนินไปได้ด้วยดี"
การประกาศดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งในหมู่ฝ่ายค้านและประชาชนชาวฝรั่งเศสจำนวนมาก ส่งผลให้ความนิยมของรัฐบาลถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับวารสาร ลา ฟิกาโรนั้น นายเจอโรเม ฟอร์เก ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ Ifop กล่าวว่า "นับตั้งแต่การแถลงการณ์นโยบายทั่วไป ไปจนถึงการประกาศลาออกของรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง คะแนนนิยมของนายมาครองก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด"
นอกจากนี้ ข่าวฉาวของรัฐมนตรีหลายคนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำลายภาพลักษณ์ของคณะทำงานชุดใหม่ ซึ่งส่งผลให้คะแนนความนิยมของนายมาครองทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด
นายริชา แฟร็อง อดีตรมว.กระทรวงการสร้างความเป็นปึกแผ่นแห่งดินแดน ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้เส้นสายช่วยเหลือภรรยาของตนเองในการแทรกแซงตลาดอสังหาริมทรัพย์เมื่อปี 2554 ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ Mutuelles de Bretagne และได้จ้างลูกชายของตนเองเข้ามาทำหน้าที่ผู้ช่วยในรัฐสภาในปี 2557
ข่าวดังกล่าวได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคดีเพเนโลเปเกต (Penelopegate) อันอื้อฉาวของนายฟรองซัวส์ ฟิยง อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ส่งผลให้นายแฟร็องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งต่อมาไม่นาน นางซิลวี ชูลาร์ด รัฐมนตรีกลาโหม, นางมาริเญ เดอ ซาร์เนซ รัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรป และนายฟรองซัวส์ เบย์โรว์ รัฐมนตรียุติธรรม ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน