Analysis: อิหร่านหวนจับมือตุรกี หวังรับมือภัยคุกคามในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 5, 2017 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองชาวอิหร่าน กล่าวไว้ว่า อิหร่านและตุรกีได้ตัดสินใจเลือกที่จะจับมือกันท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายร่วมกันในภูมิภาค

ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ผันผวนนั้น มีความเกี่ยวพันกับประเด็นที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะความขัดแย้งในซีเรีย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวจะกรุยทางให้กับอิหร่านและตุรกีมีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นภายใต้ข้ออ้างจากสถานการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นกับญาติพี่น้องในดินแดนของชาวเคิร์ดในประเทศอิรัก

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี ได้เดินทางไปเยือนอิหร่าน เพื่อหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ หลังจากที่พลเอกโมฮัมหมัด บาเครี แห่งกองทัพอิหร่านได้เดินทางไปเยือนตุรกีเมื่อเดือนที่แล้ว

จาฟาร์ ฮัคพานาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในภูมิภาค มองว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นของอิหร่านและตุรกีในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ว่า ผลประโยชน์ที่มีความแตกต่างกัน คือ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของการเป็นพันธมิตรของทั้ง 2 ฝ่าย

  • การจับมือกันในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เกิดจากสาเหตุใด

ฮัคพานาห์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิหร่านเดลี ว่า จริงๆแล้ว จุดยืนของอิหร่านและตุรกีในการคัดค้านการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดในอิรักนั้น มีสาเหตุที่แตกต่างกัน

ฮัคพานาห์ กล่าวว่า ในขณะที่อิหร่านหวั่นเกรงเรื่องการเข้ามาของอิสราเอลในบริเวณที่ใกล้กับชายแดนของประเทศนั้น ตุรกีเองก็กังวลเรื่องสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากในพื้นที่ที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่ในตุรกี

ผู้เชี่ยวชาญชาวอิหร่านมองว่า แนวโน้มดังกล่าวมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายใต้เงื่อนไขต่างๆที่ไม่สามารถคาดเดาได้ในภูมิภาค

แม้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้จะนำพาให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 2 ประเทศหันหน้าเข้าหากัน ตุรกีก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ตุรกีได้ใช้นโยบายในทางปฏิบัติเมื่อผลประโยชน์และเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศตุรกี ได้เคยกล่าวไว้ในการเดินทางเยือนเมืองเออร์บิล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพื้นที่ของชาวเคิร์ดในอิรัก ว่า แม้ว่าจะมีแรงกดดันทางการเมืองในตุรกีต่อภูมิภาคดังกล่าว แต่ตุรกีก็จะยังคงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับชาวเคิร์ดไว้

ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ และจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับอิสราเอล จะเป็นประเด็นในทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้อิหร่านไม่สามารถยอมรับการจัดตั้งรัฐหรือประเทศขึ้นมาในบริเวณที่ใกล้กับชายแดนของอิหร่านและยังได้รับการสนับสนุนจากอิสราเอลได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มว่า จะสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคง แต่ฮัคพานาห์แย้งว่า จุดยืนของอิหร่านในการคัดค้านความเคลื่อนไหวของชาวเคิร์ดนั้น ถือว่า เป็นจุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งกว่า

อิหร่านและตุรกี ยังแสดงออกให้เห็นด้วยว่า ทั้ง 2 ประเทศนั้นอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งอาจจะคุกคามต่อประเทศของตนเอง

อิหร่านได้สนับสนุนตุรกีในการทำรัฐประหารเมื่อเดือนก.ค.ค 2559 นอกจากนี้ ตุรกีเองก็ไม่ได้ยึดมั่นในมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่ออิหร่านอย่างเต็มรูปแบบในช่วงปี 2552-2556

ความร่วมมือที่ถือว่าประสบความสำเร็จของอิหร่าน รัสเซีย และตุรกีในการคลี่คลายวิกฤตในซีเรีย ตลอดจนมาตรการต่างๆของอิหร่านและตุรกีเพื่อให้การสนับสนุนอิรักนั้น ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้าน 2 รายนี้ดีขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและสากล

ฮัคพานาห์ กล่าวว่า แม้ว่า ทั้ง 2 ประเทศจะประสบความยากลำบากในการสร้างอิทธิพลด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค แต่ทั้ง 2 ฝ่ายก็ระมัดระวังที่จะไม่ผลักดันให้ความแตกต่างที่มีอยู่นั้น กลายเป็นวิกฤตด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ

การจับมือกันของอิหร่าน ตุรกี และอิรักนั้น ก่อให้เกิดพันธมิตร 3 ฝ่ายขึ้นในภูมิภาค และเหตุผลของความสัมพันธ์ดังกล่าวก็คือ การต้านทานภัยคุกคามด้านความมั่นคงนั่นเอง ฮัคพานาห์ กล่าว

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้บริหารของกองทัพ 3 ประเทศดังกล่าวได้จัดการประชุมขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการประกาศความร่วมมือทางการทหารให้ปรากฎเป็นรูปธรรมท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายต่างๆที่มีร่วมกัน

ฮัคพานาห์ กล่าวว่า หลักการของความจำเป็นที่มีร่วมกันระหว่างอิหร่านและตุรกีนั้น อยู่เหนือการแข่งขันเพื่อที่จะมีอิทธิพลในภูมิภาค รวมทั้งประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศที่ประสานกันทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

"อิหร่านและตุรกี ตระหนักรู้ได้ว่า ตนเองเป็นประเทศเพื่อนบ้านกันชั่วนิรันดร์" ฮัคพานาห์ สรุป

บทวิเคราะห์โดย ฮัสซัน รูห์วานด์

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ