ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของซูดานเปิดเผยว่า แม้การรัฐบาลสหรัฐประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าต่อซูดานจะก่อให้เกิดผลดีในหลายๆด้าน แต่การดำเนินการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ซูดานกำลังเผชิญอยู่
"ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า การคว่ำบาตรไม่ใช่แค่อุปสรรคเดียวที่ซดานต้องเผชิญ แต่ยังมีอุปสรรคอื่นๆอีกมาก เช่น หนี้สินต่างประเทศ และภาวะไร้เสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ" นายมูฮัมเหม็ด อัล-เนเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชาวซูดานเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว
"การที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อซูดานนั้น ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งรวมถึงการหนุนภาคการผลิตและการส่งออกให้เติบโตขึ้น กระตุ้นการหมุนเวียนของสกุลเงินต่างประเทศ และช่วยลดการขาดดุลการค้าซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี" เขากล่าว
ในขณะเดียวกัน การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อซูดานนั้น ยังส่งผลให้ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินของซูดาน
นายอัล-เนเยอร์กล่าวว่า รัฐบาลซูดานควรบังคับใช้มาตรการต่างๆในทันที เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการเพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากชาวซูดานที่ไปทำงานในต่างประเทศ และธนาคารกลางซูดานควรปรับใช้นโยบายต่างๆเกี่ยวกับการซื้อขายทองคำ
ทางด้านนายอับดุล ราฮิม อัล ซุนนี นักเศรษฐศาสตร์ชาวซูดาน กล่าวว่า รัฐบาลต้องนำหลักเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงปริมาณการส่งออกด้วย
"จริงอยู่ ที่การยกเลิกคว่ำบาตรช่วยให้สกุลเงินต่างๆอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินของซูดาน แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะใช้โอกาสจากการยกเลิกการคว่ำบาตรครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศผ่านทางการขยายตัวด้านการส่งออก" นายซุนนีกล่าวสำนักข่าวซินหัว
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าต่อซูดานในวันนี้ หลังจากที่ได้บังคับใช้เป็นเวลา 20 ปี โดย รัฐบาลสหรัฐระบุว่า การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวมีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลซูดานมีความคืบหน้าในการต่อต้านการก่อการร้าย และในด้านสิทธิมนุษยชน
กระบวนการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แม้เผชิญการคัดค้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน
ด้านรัฐบาลซูดาได้นแสดงความยินดีที่รัฐบาลสหรัฐได้ตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าต่อซูดาน โดยกระทรวงการต่างประเทศซูดานระบุในแถลงการณ์ว่า "ผู้นำ รัฐบาล และประชาชนชาวซูดาน มีความยินดีต่อการตัดสินใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อซูดานอย่างถาวร"
"ซูดานมองว่าการตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างซูดานและสหรัฐ โดยเป็นผลมาจากการเจรจาอย่างจริงใจ โปร่งใส และเป็นไปในทางสร้างสรรค์" กระทรวงการต่างประเทศซูดานกล่าวในแถลงการณ์
ทั้งนี้ แม้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ซูดานสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปเท่าใดจากการคว่ำบาตรของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่มีการประมาณการว่า มูลค่าความเสียหายโดยรวมอาจจะอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรยังส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธนาคาร การขนส่ง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้วย โดยธนาคารของซูดานต้องปิดหน่วยงานด้านการเงินทั่วโลกลง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรห้ามไม่ให้มีทำธุรกรรมด้านการค้าและการเงินทุกประเภทกับซูดาน
ในส่วนของอุตสาหกรรมสายการบินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐห้ามไม่ให้สายการบินของซูดานสามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องบิน และการซ่องบำรุงเครื่องบินรายปี
ส่วนในภาคสาธารณสุขนั้น ได้มีการระงับนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาจากสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของซูดาน ด้อยลงไปด้วย