Analysis: ดาวโจนส์จะพุ่งทะยานได้อีกเพียงใด?

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 19, 2017 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อวานนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์เป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนตั้งความหวังว่า แผนการปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะสำเร็จลุล่วงภายในสิ้นปีนี้ และยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากผลประกอบการรายไตรมาสที่ดีเกินคาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ปรับตัวขึ้นกว่า 17% แล้วในปีนี้ และปิดเหนือระดับ 23,000 จุด หลังจากที่ดัชนีพุ่งขึ้นแตะระดับ 22,000 จุดไปแล้วเมื่อ 76 วันที่ผ่านมา โดยเมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมาดาวโจนส์พุ่งแตะระดับ 20,000 จุดเป็นครั้งแรกของปี 2560 และเพิ่มขึ้นแตะ 21,000 จุดได้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.

บรรดานักวิเคราะห์ไม่ได้รู้สึกแปลกใจกับสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดต่างตั้งความหวังไว้กับการพิจารณาแผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มาโดยตลอด

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยวานนี้ว่า การคาดการณ์เกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษีมีผลในวงกว้างต่อการทะยานขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ พร้อมเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ หากแผนปฏิรูปภาษีไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส

ด้านนายฮัมเบอร์โต การ์เซีย หัวหน้าฝ่ายการจัดสรรสินทรัพย์ทั่วโลกของ Bank Leumi USA มองว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมถึงการสนับสนุนอันแข็งแกร่งจากนานาประเทศนั้นกำลังจะกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามาบดบังกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับแผนปฏิรูปภาษี

ข้อมูลล่าสุดของธอมสัน รอยเตอร์ ชี้ว่า 80.8% ของบริษัท 52 แห่งรายงานผลประกอบการที่สูงกว่าคาดการณ์ จึงนับเป็นการเริ่มต้นฤดูการรายงานผลประกอบการที่ดี ซึ่งโดยปกติแล้ว นับตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ผลประกอบการของบริษัทในสัดส่วน 64% นั้นสูงกว่าคาดการณ์ ในขณะที่บริษัท 21% มีผลประกอบการต่ำกว่าคาดการณ์

ด้านข้อมูลจาก S&P Capital IQ ชี้ว่า ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ พุ่งขึ้น 15.5% และ 10.8% ตามลำดับ

การ์เซียเพิ่มเติมว่า ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ปรากฎให้เห็นในผลการดำเนินงานของสหรัฐแล้วปีนี้

"ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้น 17.2% และ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 14.3% ส่วนดัชนี S&P Midcap 400 กลับบวกขึ้นเพียง 9.9% เช่นเดียวกับ Russell 2000 ที่ปรับตัวขึ้น 10.3% โดยปกติแล้ว บริษัทขนาดใหญ่มักจะมียอดส่งออกที่ขยายตัวขึ้น ส่วนธุรกิจขนาดเล็กนั้นมีความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า และบริษัทเหล่านี้อาจจะได้ประโยชน์จากการปฏิรูปภาษี" เขากล่าว

จากการที่ดัชนีทั้ง 3 ดัชนี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ดังกล่าว นักลงทุนต่างตั้งคำถามว่า ตลาดหุ้นสหรัฐจะสามารถดีดตัวขึ้นได้นานเพียงใด

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งออกโรงเตือนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดงบดุล จากระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนธ.ค.นี้

เฟดได้ประกาศว่า จะเริ่มต้นลดงบดุลลงตั้งแต่เดือนต.ค. ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงินลง รวมถึงส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้ หากเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในระดับปานกลาง

ล่าสุด CME Group เปิดเผยเกี่ยวกับการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค. ว่า สัดส่วนการคาดการณ์นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 91.7%

รอน พอล อดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐ เคยกล่าวไว้เมื่อต้นเดือนส.ค. ว่า มูลค่าของดัชนีทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวอาจปรับตัวลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี และได้เน้นย้ำอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าการปรับฐานของตลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเฟดอาจจะเป็นสาเหตุของการปรับฐานในตลาด

การ์เซีย ระบุว่า การลดงบดุลครั้งใหญ่และการปรับขึ้นอัตราการดอกเบี้ยนั้น อาจจะทำให้เฟดใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งยวด ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายทางธุรกิจหดตัวลง

อย่างไรก็ดี เขาย้ำกับบรรดานักลงทุนว่า ผลกำไรของบริษัทเอกชนที่ดีขึ้น และสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ดีขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ซบเซา อาจจะทำหน้าที่เป็นปัจจัยซึมซับความผันผวนของตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ