แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาลของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสามารถกวาดคะแนนเสียงได้ถึง 2 ใน 3 ของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น มีแนวโน้มว่า จะช่วยปูทางสู่การประชุมในประเด็นที่ตกเป็นข้อถกเถียงในรัฐสภาอย่างเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาที่ปฏิเสธการทำสงคราม
แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสูงสุดเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังห่างไกลจากบทสรุปที่รับทราบกันมาอยู่แล้วก่อนหน้านี้ แม้ว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) และพรรคโคไมโตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้ 2 ใน 3 ในศึกเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ตาม
คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรนั้น หมายความว่า การอภิปรายในประเด็นที่เต็มไปด้วยขวากหนามจะได้รับการผลักดันให้ผ่านไปได้ ตามที่มีการวางแผนไว้ทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสนอให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ด้านการเมืองมองว่า ยังมีอุปสรรคอีกมากที่จำเป็นต้องจัดการก่อนที่นโยบายของนายอาเบะและความต้องการที่จะปฏิรูปนั้น จะปรากฎเป็นรูปธรรมได้
แม้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การจัดลงประชามติในเรื่องดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน
ดร.ชิน ชิบะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชั่นแนล คริสเตียน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า คณะรัฐมนตรีชุดอาเบะและวุฒิสภาจะเริ่มอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่การเมืองของญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคของการเมืองที่เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ
ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีการเมือง กล่าวว่า สภานิติบัญญัติอาจจะอนุมัติให้มีการจัดลงประชามติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ชาวญี่ปุ่นเองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกือบครึ่งในเรื่องนี้ ดังนั้น ประเด็นนี้จะนำมาซึ่งการถกเถียงอย่างหนักหน่วงในสังคม
ประเด็นนี้ อาจจะเป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนในสังคมอาจจะให้การสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในมุมมองโดยรวมแล้ว ก็ยังคงมีเรื่องของเหตุและผล รวมทั้งความรู้สึกที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจากในมุมมองของประชาชนทั่วไป
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น เป็นประเด็นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันทั้งทางการเมืองและสังคมมาตั้งแต่การจัดตั้งพรรคแอลดีพีเมื่อปี 2498 ซึ่งได้มีการนำปัจจัยพื้นฐานต่างๆของพรรคมาใช้ภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยม และความเห็นที่แตกต่างกันก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจนมาถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดของพรรคแอลดีพีภายใต้การนำของนายอาเบะสวนทางกับความต้องการของพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญ และภาคส่วนต่างๆในสังคมญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วกันอย่างมากในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า ชาวญี่ปุ่นตัดขาดซึ่งการทำสงครามตามสิทธิแห่งอธิปไตยของประเทศ รวมทั้งการคุกคามหรือการใช้กำลังในการยุติความขัดแย้งในระดับสากล
"กองกำลังทางบก ทะเล และอากาศ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะทำสงครามนั้น จะไม่ใช่สิ่งที่ยังคงมีอยู่อีกต่อไป"
เหล่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอาเบะหรือการปรับเปลี่ยนบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นนั้น ก็เพื่อที่จะขยายขอบเขตการทำหน้าที่ของกองทัพในเวทีโลก ภายใต้กฎหมายความมั่นคงที่สร้างความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น ได้นำมาซึ่งความกระวนกระวายใจของนักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชนผู้รักสันติ
คริสเตียน คอลเล็ต ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชั่นแนล คริสเตียน กล่าวแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เหตุผลต่างๆของนายอาเบะนั้นแสนจะเรียบง่ายและชัดเจนมานานแล้ว อาเบะซึ่งเป็นคนรักประเทศที่มีความทุ่มเทและอดทน มองว่าญี่ปุ่นมีอำนาจในระดับที่ปกติในภูมิภาค และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มที่ซ่อนเร้นความหวาดเกรงและความเกลียดชังประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค
คอลเล็ต กล่าวกับซินหัวว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนจะนำมาซึ่งการทัดทานความพยายามที่จะแก้ไขมาตรา 9 และการคัดค้านเรื่องการเป็นประเทศมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
ในขณะที่นายอาเบะและพรรคแอลดีพี สามารถที่จะประจบพรรคโคไมโตะ พรรคเจแปน อินโนเวชั่น พาร์ตี้ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น พรรคเหล่านี้ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่า จะลำดับความสำคัญทั้งก่อนและหลังอย่างไรในประด็นที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรักความสงบนั้น ปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรค CDPJ ภายใต้การนำของยูกิโอะ เอดะโนะ อดีตหัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเองก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ความคิดเห็นในกลุ่มนักวิชาการด้านการเมืองโดยรวมที่มีต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้เกิดการอภิปรายอย่างเข้มข้นในสภา ท้ายที่สุดแล้วก็คือการตัดสินใจที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะเป็นผู้ตัดสิน
ยู ยูชิยามะ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า อาเบะได้ให้คำมั่นไว้แล้วในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาเบะอาจจะได้รับผลกระทบจากแนวคิดของนายโนบุสึเกะ คิชิ คุณตาของเขา ซึ่งเคยทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2500 - 2503
แม้ว่า เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะให้การสนับสนุนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังมีความลังเลในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขดังกล่าว หากอาเบะทำหน้าที่ต่อไปอีกหนึ่งวาระ เขาคงจะเดินหน้าเรื่องนี้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถทำได้อย่างที่หวังไว้ ยูชิยามะ กล่าวกับซินหัว
บทวิเคราะห์โดย จอห์น เดย์
สำนักข่าวซินหัวรายงาน