เหล่าผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ชูแนวคิด"America Fist" และส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าในระหว่างที่เดินทางสายเยือนเอเชีย ซึ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้น เป็นความเคลื่อนไหวที่จะทำให้บทบาทของสหรัฐในภูมิภาคถดถอยลงไป ขณะที่กระแสโลกาภิวัฒน์ยังคงแพร่หลาย
คำกล่าวอ้างที่ว่า สหรัฐถูกประเทศต่างๆในเอเชียเอาเปรียบในเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้านั้น เห็นได้จากการที่ทรัมป์พูดถึงเรื่องนี้ทั้งในงานระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น การประชุมเอเปคว่า ภาวะไร้สมดุลด้านการค้าระหว่างสหรัฐและเอเชียจะต้องลดน้อยลง และการแสดงความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้รับการตอบรับในภูมิภาคแต่อย่างใด ทั้งที่ภูมิภาคนี้ได้พยายามที่จะผนวกรวมด้านเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วก็ตาม
ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า โลกาภิวัฒน์ยังคงเดินหน้าต่อไปแม้ว่าจะไม่มีทรัมป์ ทรัมป์คาดว่า จะถอนตัวจากเอเชียโดยปราศจากข้อเสนอโครงการด้านการค้าใหม่ๆมาทดแทน ทั้งที่เอเชียเป็นภูมิภาคที่โอบอุ้มความหวังของบริษัทสหรัฐจำนวนมาก
รูฟัส เยอร์ซา อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐที่บริหารงานของสภาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อความโดยรวมที่ทรัมป์ได้กล่าวไปนั้น ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ทุกฝ่ายต้องการผนวกรวมด้านการค้า แต่สหรัฐกลับพยายามที่จะทำให้การผนวกรวมนี้ล่าช้าออกไป
บทความของไฟแนนเชียล ไทม์ส ยังระบุด้วยว่า ความลังเลที่จะยุ่งเกี่ยวกับสหรัฐนั้น ส่วนหนึ่งมาจากวิธีการชวนทะเลาะที่ทรัมป์ได้นำมาใช้ ตลอดจนนโยบาย America First ที่ชูลัทธิชาตินิยม นอกจากนี้ เบื้องหลังความจริงที่ไม่สามารถหลีกหนีและยังปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วก็คือ โลกาภิวัฒน์ไม่ได้ตายไปกับการเข้ามาของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างใด ประเทศต่างๆยังคงหาทางเพื่อที่จะเร่งกระบวนการโลกาภิวัฒน์กันต่อไป
ในสายตาของริชาร์ด ฮัส หัวหน้าฝ่ายของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการของสหรัฐนั้น มองว่า สัญญาณเรื่องการค้าภายใต้ลัทธิชาตินิยม ปกป้องผลประโยชน์ของทรัมป์นั้น มีแต่จะทำให้สหรัฐลดบทบาทของตนเองในเอเชีย และยังบ่อนทำลายผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของสหรัฐเองด้วยเช่นกัน
ฮัส กล่าวว่า ทรัมป์ไม่ยอมทำข้อตกลงการค้าที่ผูกมัดประเทศของตนเอง ทั้งที่ข้อตกลงแบบนี้เองก็ผูกมัดมือของประเทศอื่นๆไว้ด้วยเช่นกัน แม้ว่า ทรัมป์เองจะยอมรับในเรื่องสิทธิของประเทศต่างๆในเอเชียที่จะปกป้องผลประโยชน์
ซู หลี่ผิง นักวิจัยอาวุโสของสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS) กล่าวว่า ความพยายามที่จะลดยอดขาดดุลของสหรัฐนั้นอาจจะต้องใช้เวลา แต่ท้ายที่สุด ทรัมป์ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงต้นตอพื้นฐานของการขาดดุลได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม ปัจจัยเหล่านี้ต้องใช้ความเต็มใจในการปฏิรูป และนโยบายการค้าแบบลัทธิชาตินิยมของรัฐบาลทรัมป์จะไม่สามารถจุดประกายความเต็มใจเช่นนั้นในภูมิภาคนี้ได้
หลี่ผิงให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่า ความพยายามของคนหัวแข็งที่จะลดยอดขาดดุลนั้นมีแต่จะทำลายการค้าทั่วโลก รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ตลอดจนดึงสหรัฐเข้าสู่สงครามการค้ากับประเทศต่างๆในเอเชีย
ในระหว่างการเดินทางเยือนเอเชีย 12 วัน ทั้งที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์นั้น ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับที่เวียดนามนั้น ทรัมป์ก็ได้เสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าว และเมื่อมาที่ฟิลิปปินส์ ทรัมป์ก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านการเดินเรือในภูมิภาค
ทรัมป์กล่าวว่า ผมรู้ว่าเรามีข้อพิพาทมาสักพักหนึ่ง ถ้าผมจะสามารถช่วยเหลือได้ในทางใดทางหนึ่ง ผมเองเป็นนักไกล่เกลี่ยที่ดีมาก ผมได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างมามาก
ซูมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวมาผิดเวลา ในขณะที่การเจรจาต่อรองระหว่างคู่กรณีเพื่อที่จะปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติระดับภูมิภาคในทะเลจีนใต้ (CoC) ยังคงดำเนินไปอยู่นั้น การแสดงความเห็นของสหรัฐเช่นนี้ มีแนวโน้มว่าจะจุดชนวนการคาดการณ์ในประเด็นที่ว่า สหรัฐต้องการจะทวนกระแส และบ่อนทำลายความพยายามในการสร้างสันติภาพและความมั่นใจในเรื่องนี้
ซู กล่าวเพิ่มเติมว่า ยุทธศาตร์ของคณะทำงานทรัมป์ในเรื่องนี้แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรได้ในภูมิภาคที่ต้องการความร่วมมือ ความรุ่งเรืองมากกว่าความแตกแยกหรือการยั่วยุ การที่สหรัฐกล่าวอ้างเรื่องความข้องเกี่ยวที่สร้างสรรค์ของตนเองในภูมิภาคจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีแต่อย่างใด
คำแนะนำของทรัมป์เองก็ไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทะเลจีนใต้แต่อย่างใด
แถลงการณ์ร่วมที่อาเซียนได้เผยเพร่เมื่อวันที่ 13-14 พ.ย.นั้น แทบจะไม่มีการระบุถึงสิ่งที่สหรัฐกังวล แต่ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศกลับให้คำมั่นว่าจะยกระดับความร่มมือในภูมิภาคในเรื่อง ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) การเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภค ความมั่นคงด้านอาหาร การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง
นอกจากนี้ ซูยังกล่าวด้วยว่า สถานการณ์โดยรวมในทะเลจีนใต้นั้น มุ่งหน้าไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพ ในขณะที่ประเทศที่เกี่ยวข้องได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนเรื่องเสรีภาพด้านการเดินเรือ การบิน และพาณิชย์ ซึ่งหากทำเนียบขาวตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ก่อนหน้านี้ การตัดสินใจที่ชาญฉลาดก็จะเกิดขึ้น
บทวิเคราะห์โดย จือ ตงหยาง
สำนักข่าวซินหัวรายงาน