China Focus: ทูตจีนเผยการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 19 ของจีนเป็นโอกาสผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีนสู่มิติใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 21, 2017 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสจ์จีนครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-24 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญของประเทศจีน โดยทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับการประชุมใหญ่ครั้งนี้ หลายคนคงสงสัยว่า การประชุมสมัชชาครั้งที่ 19 มีความสำคัญอย่างไรต่อประเทศจีน? ส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์จีน-ไทย และเราจะพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยอย่างไรต่อไป?

บทสัมภาษณ์ ฯพณฯ หลวี่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทยจีน ระบุว่า การประชุมสมัชชาครั้งที่ 19 มีความสำคัญต่อจีน เนื่องจากเป็นการประชุมที่จะนำพาประเทศจีนไปสู่กระบวนการพัฒนาครั้งใหม่ โดยมีการตั้งเป้าไว้ว่า จีนจะต้องเป็นสังคมที่อยู่ดีกินดีให้ได้ภายในปี 2563 และเป็น"ประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย"ภายในปี 2578 ด้วยการวางแผนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและระบบนิเวศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต บิ๊กดาต้า และ AI เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของจีน นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนด้วยเช่นกัน

*การประชุมสมัชชาครั้ง 19 สร้างโอกาสใหม่สำหรับความร่วมมือไทย-จีน ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี

นายหลวี่เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาครั้งที่ 19 มีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีนหลายประการ ประการแรกก็คือ การเอื้อประโยชน์ให้ไทยและจีนสามารถแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น การช่วยเติมเต็มแนวคิดในการพัฒนา ยุทธศาสตร์การพัฒนา และแนวทางปฏิบัติซึ่งกันและกัน เนื่องจากไทยและจีนอยู่ในช่วงการพัฒนาระดับเดียวกัน และกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน โดยจีนได้ยึดถือแนวทางการพัฒนาใหม่ที่เน้นนวัตกรรม ความสมดุล สีเขียว การเปิดกว้างและการแบ่งปัน ยืนหยัดในการสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ในขณะที่ไทยได้ยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกับนโยบาย Thailand 4.0 Digital Thailand ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหากมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในเชิงลึกมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ ให้แก่การพัฒนาของทั้งสองประเทศ

ประการที่สองคือ ไทยและจีนจะมีโอกาสในการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในระดับที่สูงขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้นผ่านการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ในการสร้างสังคมนิยมสมัยใหม่ของจีน เช่น การปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้านอุปทาน การผลักดันการแปรสภาพอุตสาหกรรม และการพัฒนารูปแบบใหม่ โครงการ " Belt and Road" และเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยจึงมีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ และสามารถมีบทบาทสำคัญและได้รับประโยชน์ระยะยาวจากการดำเนินความร่วมมือ Belt and Road นอกจากนี้ จีนยังมีประสบการณ์ด้าน Digital Economy การพัฒนาเขตใหม่สยงอัน และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ซึ่งจีนยินดีที่จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนี้กับไทย

ประการที่สามคือ ไทยและจีนจะมีโอกาสในการร่วมมือกันดำเนินกิจการระหว่างประเทศและกิจการในภูมิภาค เพื่อสร้างประชาคมเอเชียที่มีชะตากรรมร่วมกัน จีนให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบที่เป็นกันเอง จริงใจ เอื้อประโยชน์ต่อกัน เปิดกว้างและเปิดรับ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นหุ้นส่วนกัน ตามหลักแนวคิด “ร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมแบ่งปัน" จีนจึงให้ความสำคัญต่ออิทธิพลและบทบาทของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมกับการดำเนินกิจการระหว่างประเทศและกิจการในภูมิภาค โดยได้เชิญไทยเข้าร่วมการประชุม G20 ที่หางโจวในฐานะประธานกลุ่ม 77 ประเทศ และยังได้เชิญไทยเข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ภายใต้กลไกความร่วมมือ BRICS ในฐานะตัวแทนของภูมิภาค และยินดีที่จะสนับสนุนไทยในการมีบทบาทระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป

*ข้อแนะนำในการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยในอนาคต

นายหลวี่เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน มีความแน่นแฟ้นดั่งภาษิตที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน "นั้น ได้หยั่งรากฝันลึกในใจของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันสานต่อเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันมีดังนี้

การส่งเสริมการไปมาหาสู่กัน เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองและไมตรีจิต เนื่องจากไทยและจีนมีประเพณีในการไปมาหาสู่กันในระดับผู้นำมาอย่างยาวนาน จึงควรรักษาประเพณีอันดีงานเช่นนี้ไว้ต่อไป ทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกันหลายครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนกันในทางการเมืองอันมีผลดีต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ จีนยังมีความยินดีในการถวายการต้อนรับพระบรมวงศานุวงศ์ และยินดีต้อนรับข้าราชการ ผู้บริการระดับสูงของสภานิติบัญญัติ รัฐบาล กองทัพและหน่วยราชการต่างๆ มาเยือนจีน เพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคี การบริหารประเทศและประเด็นอื่นๆ ที่สนใจร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางร่วมในการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศร่วมกัน

การส่งเสริมความกล้าในการคิด สร้างนวัตกรรม และการผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อประโยชน์แก่กัน เช่น การผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างสมดุล และพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งสองประเทศควรขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า ผลักดันการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันในอุตสาหกรรมใหม่ๆ หลายภาคส่วน เช่น อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ดาวเทียม ระบบการนำทาง ฯลฯ การที่บริษัทชั้นนำของจีน อาทิ อาลีบาบา เจดีดอทคอม และหัวเว่ย มาลงทุนในประเทศไทย ถือเป็นการยกระดับความร่วมมือไทย-จีนให้สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ จีนยังยินดีที่จะส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับไทยด้วย

การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางด้านสังคม วัฒนธรรมเชิงลึกและรอบด้านอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสองประเทศควรดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอยู่เสมอ เช่น เทศกาลวัฒนธรรม เทศกาลภาพยนตร์ เทศกาลโทรทัศน์ ฯลฯ และควรส่งเสริมให้เยาวชนทั้งสองประเทศมีการมีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เพิ่มพูนความเข้าใจและสร้างมิตรภาพระหว่างกัน โดยอาชีวศึกษาถือเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-จีน ซึ่งจีนได้สนับสนุนให้โรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษาขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยน และรับนักเรียนไทยเข้าร่วมประกวดทักษะนานาชาติซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ในปี 2564 อีกทั้งยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการ คลังปัญญา การอบรมบุคลากร และการอบรมด้านเทคโนโลยีและสื่อมวลชนอีกด้วย

นายหลวี่เสนอด้วยว่า ไทยและจีนควรมีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยจีนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในการผลักดันและยกระดับคุณภาพความร่วมมือจีน-อาเซียน ผลักดันความร่วมมือโครงการล้านช้าง-แม่โขง เพื่อเป็นแบบอย่างของความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ไปในทางที่ดีและมีลักษณะที่เปิดกว้าง และยังเป็นประโยชน์ต่อการร่วมกำหนดชะตากรรมของเอเชียไปด้วยกันอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยและจีนควรประสานความร่วมมือในกรอบ APEC ACD ASEM และภายใต้กรอบความร่วมมือสหประชาชาติอย่างแข็งแกร่ง โดยให้สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573

นายหลวี่ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาความร่วมมือฉันมิตรระหว่างไทย-จีนนั้น เป็นนโยบายทางการทูตที่มีความสำคัญอันดับต้นๆของจีน และเชื่อว่าความสัมพันธ์จีน-ไทยจะมีอนาคตที่สดใสและรุ่งโรจน์อย่างแน่นอน ถ้าทั้งสองประเทศดำเนินความร่วมมือด้วยความจริงใจ กล้าบุกเบิก พร้อมคว้าโอกาสที่สำคัญ และรับมือกับความท้าทายร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ